โบราณสถานค่ายทหารฝรั่งเศส สืบเนื่องจากวิกฤตการณ์ ร.ศ. ๑๑๒ (พ.ศ.๒๔๓๖)
รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
Historic monument from the A.D. 1893 Incident During the reign of King Chulongkorn the Great
          พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันอังคารที่ ๒๐ กันยายน พ.ศ.๒๓๙๖ ภายหลังที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๑๑ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ กรมขุนพินิตประชานาถ ซึ่งในขณะนั้น พระชนมายุเพียง ๑๕ ชันษา ได้เสด็จเสวยราชสมบัติขึ้นเป็นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่เนื่องจากพระองค์ยังทรงพระเยาว์ และไม่ทรงบรรลุนิติภาวะ  จึงทรงแต่งตั้งสมเด็จเจ้าพระยามหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ขณะนั้นมีบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าพระยามหาศรีสุริยวงศ์ เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน เมื่อพระองค์พระชนมายุ ๒๐ พรรษา จึงได้ประกอบพิธีบรมราชาภิเษกเป็นครั้งที่ ๒ เมื่อวันที่ ๑๖ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๑๖  นับแต่นั้นเป็นต้นมา พระองค์ทรงมีอำนาจเด็ดขาดในการบริหารราชการบ้านเมือง  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระมเหสีและพระชายารวมทั้งสิ้น ๑๕๓ พระองค์ ทรงมีพระมเหสีชั้นพระภรรยาเจ้ารวม ๙ พระองค์ โดยจัดลำดับตำแหน่งเป็น ๕ ตำแหน่ง ดังนี้ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชเทวี พระราชเทวี พระอัครชายา และพระราชชายา


พระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
          พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชโอรส  ๓๓ พระองค์ และพระราชธิดา ๔๔ พระองค์ รวมทั้งสิ้น ๗๗ พระองค์ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เถลิงถวัลย์ราชสมบัติสองพระองค์ คือ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ สำหรับสายราชสกุลในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีทั้งหมด ๑๕ ราชสกุล พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ ๒๓ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๕๓ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต รวมพระชนมพรรษาได้ ๕๘ พรรษา เสด็จอยู่ในสิริราชสมบัติรวม ๔๒ ปี พระองค์เป็นพระมหากษัตริย์อันเป็นที่รักยิ่งของปวงชนชาวไทย ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณอเนกอนันต์ทั้งในการปกครองบ้านเมือง และพระราชทานความร่มเย็นเป็นสุขแก่ประชาชนทุกหมู่เหล่า  ปวงชนชาวไทยทุกคนจึงน้อมถวายพระนามว่า "พระปิยมหาราช"  ทั้งนี้รัฐบาลได้กำหนดให้วันที่ ๒๓ ตุลาคมของทุกปีเป็นวันปิยมหาราช
พระบรมฉายาลักษณ์พระราชพิธีบรมราชาภิเษก
ครั้งที่ ๑ ใน พ.ศ.๒๔๑๑
พระราชลัญจกรพระเกี้ยว
ตราประจำราชการ
พระบรมฉายาลักษณ์พระราชพิธีบรมราชาภิเษก
ครั้งที่ ๒ ใน พ.ศ.๒๔๑๖
พระราชกรณียกิจในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ด้านเศรษฐกิจและสังคม
ด้านกฏหมายและการศาล
ด้านการต่างประเทศ
ด้านสังคม
ด้านคมนาคมและสื่อสาร
ด้านสาธารณูปโภคและสาธารณสุข
ด้านการทหารและป้องกันประเทศ
การเสด็จประพาสต้น
การเสด็จประพาสยุโรป
ด้านการปกครอง