ประวัติค่ายตากสินจันทบุรี    
          ค่ายตากสินจันทบุรี เป็นสถานที่ตั้งของกองพันทหารราบที่ ๒ กรมทหารราบที่ ๑ กองพลนาวิกโยธิน อยู่ที่บริเวณบ้านลุ่ม ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำจันทบุรี เมืองจันทบุรีโบราณที่บ้านลุ่ม มีความสำคัญอย่างยิ่งในประวัติศาสตร์ไทย เมื่อครั้งสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้ทรงยกทัพมาตีเมืองจันทบุรีแล้วยึดเป็นที่ตั้งมั่นในการเตรียมการกู้ชาติหลังจากเสียกรุงศรีอยุธยาให้แก่พม่า
          ในปี พ.ศ. ๒๓๑๐ ใน ร.ศ. ๑๑๒ หรือปี พ.ศ. ๒๔๓๖ ฝรั่งเศสได้ใช้กำลังบังคับและยื่นคำขาดให้ไทยยกดินแดนของลาวทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงกับเขมรส่วนนอก ซึ่งเคยเป็นประเทศราชของไทยให้กับฝรั่งเศส ในระหว่างที่รอคอยให้สัญญาต่างๆมีผลบังคับใช้ ฝรั่งเศสได้ทำการยึดเมืองจันทบุรีไว้เป็นประกันจนถึงปี พ.ศ. ๒๔๔๘ เหตุผลที่เลือกยึดเมืองจันทบุรีก็เพราะเป็นเมืองที่มีความสำคัญทางด้านยุทธศาสตร์ เป็นจุดที่ควบคุมอ่าวสยามที่ติดต่อกับแหลมมลายูของอังกฤษ เป็นทางผ่านเข้าไปยังสามจังหวัดของไทยที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดด้านทรัพยากรธรรมชาติซึ่งได้แก่ บ่อพลอย บ่อไพลิน ในเขตเมืองพระตะบอง เสียมราฐ  และศรีโสภณ นอกจากนั้นเมืองจันทบุรียังมีท่าเรือที่ปากแม่น้ำและมีอู่ต่อเรือระวางตั้งแต่ ๓๐๐-๔๐๐ ตัน การยึดจันทบุรีจึงเท่ากับยึดท่าเรือ อู่ต่อเรือ และเรืออื่นๆไว้เป็นการตัดกำลังไทยทางอ้อมด้วย กองทหารฝรั่งเศสได้ตั้งค่ายทหารขึ้นภายในบริเวณบ้านลุ่มหรือบริเวณที่เป็นค่ายตากสินในปัจจุบันและที่ปากน้ำแหลมสิงห์ รวมทั้งได้สร้างสิ่งก่อสร้างอีกหลายหลัง ปัจจุบันหลักฐานร่องรอยต่าง ๆ ทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับเมืองจันทบุรีที่บ้านลุ่ม ยังคงปรากฏเหลืออยู่ภายในบริเวณค่ายตากสินเท่านั้น อาคารที่ฝรั่งเศสสร้างขึ้นได้แก่ อาคารกองรักษาการณ์ อาคารตอนสรรพาวุธและตอนส่งกำลังบำรุง อาคารพัสดุ อาคารคลังแสงหมายเลข ๕ และอาคารคลังแสงหมายเลข ๖
          ภายหลังจากที่ทหารฝรั่งเศสถอนออกจากเมืองจันทบุรี เมื่อวันที่ ๘ มกราคม พ.ศ.๒๔๔๘ บริเวณค่ายทหารที่ในบริเวณค่ายตากสินได้มีการใช้งานสืบต่อมาดังนี้
          - พ.ศ. ๒๔๗๒ เป็นที่ตั้งของโรงเรียนประชาบาล และบ้านพักของข้าราชการฝ่ายปกครอง
          - พ.ศ. ๒๔๗๙ เป็นที่ตั้งกองทหารม้า ม. พัน. ๔
          - พ.ศ. ๒๔๘๘ เป็นที่ตั้งของพัน.นย.๓ (กองพันทหารราบนาวิกโยธินที่ ๓)
          - พ.ศ. ๒๔๙๗ เป็นที่ตั้งกองป้องกันพิเศษ จันทบุรี
        - พ.ศ. ๒๔๙๘ ทางราชการได้สั่งขยายกำลังกองป้องกันพิเศษ จากกำลัง๑ กองร้อย เป็น ๑ กองพัน ชื่อว่าพัน.ร.๒ นย. ต่อมาได้แปรสภาพเป็นกองหันทหารราบที่ ๒ กรมทหารราบที่ ๑ กรมผสมนาวิกโยธิน เมื่อ ๑๐ สิงหาคม ๒๕๒๑ และในปัจจุบันได้แปรสภาพเป็นกองพันทหารราบที่ ๒ กรมทหารราบที่ ๑ กองพลนาวิกโยธิน หน่วยบัญชาการนาวิกโยธินตั้งแต่ ๑ เมษายน ๒๕๓๒
          กลุ่มอาคารโบราณสถานที่สร้างขึ้นในสมัยที่ฝรั่งเศสเข้ายึดเมืองจันทบุรี ได้รับการบูรณะปรับปรุงและใช้งานมาตลอด แต่การบูรณะที่ผ่านๆมาทำได้ในวงจำกัด เนื่องจากขาดงบประมาณและความรอบรู้ในการบูรณะโบราณสถาน ทำให้อาคารต่างๆอยู่ในสภาพที่ชำรุดทรุดโทรมเป็นอันมาก อาคารเหล่านี้เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ยังหลงเหลืออยู่ในสมัยที่มีการล่าอาณานิคม ซึ่งการเสียดินแดนให้แก่ประเทศมหาอำนาจผู้แสวงหาเมืองขึ้น เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่การยอมเสียบางส่วนเพื่อแลกเปลี่ยนกับการอยู่รอดของชาติไทยทั้งหมด ย่อมนับว่าเป็นผลดีแก่ชาติ และการที่เป็นไปได้ดังนั้น ก็เนื่องมาจากพระปรีชาญาณในด้านรัฐศาสตร์ และรัฐประศาสโนบายของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านของเราทั้งหมดต้องตกเป็นอาณานิคมของประเทศมหาอำนาจ เพราะการดำเนินนโยบายที่แตกต่างกัน
งานสมโภชเมืองจันทบุรีในเดือน มกราคม พ.ศ. ๒๔๔๗
ภายหลังทหารฝรั่งเศสถอนกำลังจากจันทบุรี
พระบรมราชานุเสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
ภาพมุมสูงของกองพันทหารราบที่ ๒ กรมทหารราบที่ ๑
กองพลนาวิกโยธินหรือค่ายตากสินในปัจจุบัน
โบราณสถานค่ายทหารฝรั่งเศส สืบเนื่องจากวิกฤตการณ์ ร.ศ. ๑๑๒ (พ.ศ.๒๔๓๖)
รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
Historic monument from the A.D. 1893 Incident During the reign of King Chulongkorn the Great