การศาสนา   
          พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงส่งเสริมทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาและบูรณปฏิสังขรณ์วัดทั่วประเทศ ทรงสร้างวัดราชบพิตรสถิตมหาสีมารามเป็นวัดประจำรัชกาล   ในพ.ศ.๒๔๓๒ โปรดให้ตั้งมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัยที่วัดมหาธาตุสำหรับพระสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย และมหามกุฎราชวิทยาลัยที่วัดบวรนิเวศสำหรับพระสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติกนิกาย


โบราณสถานค่ายทหารฝรั่งเศส สืบเนื่องจากวิกฤตการณ์ ร.ศ. ๑๑๒ (พ.ศ.๒๔๓๖)
รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
Historic monument from the A.D. 1893 Incident During the reign of King Chulongkorn the Great
ด้านสังคม
การศึกษา
        พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงให้ความสำคัญกับการศึกษาเป็นอย่างมาก โปรดให้สร้างโรงเรียนหลวงแห่งแรกขึ้นในพระบรมมหาราชวังเมื่อ พ.ศ.๒๔๑๔ และโปรดให้ขยายการศึกษาสู่ประชาชน โดยตั้งโรงเรียนหลวงสำหรับประชาชนแห่งแรกที่วัดมหรรณพารามวรวิหารใน พ.ศ.๒๔๒๗ ตลอดรัชสมัยของพระองค์มีโรงเรียนต่าง ๆ เกิดขึ้นมากมาย อาทิเช่น โรงเรียนหลวง โรงเรียนราษฎร์ โรงเรียนสำหรับสตรี โรงเรียนฝึกหัดครู ทรงตั้งกระทรวงธรรมการ (ซึ่งปัจจุบันคือกระทรวงศึกษาธิการ) ขึ้นใน พ.ศ.๒๔๓๕ ทำหน้าที่ควบคุมดูแลและรับผิดชอบระบบการศึกษาของประเทศ นับได้ว่าเป็นการจัดระบบการศึกษาครั้งแรกของประเทศ    อีกทั้งทรงส่งนักเรียนไทยไปศึกษาต่อต่างประเทศ เพื่อที่จะนำความรู้กลับมาช่วยพัฒนาบ้านเมืองให้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ทรงริเริ่มจัดตั้งหอพระสมุดสำหรับพระนคร พิพิธภัณฑสถานและโบราณคดีสโมสร

การเลิกทาส
          การเลิกทาสนับเป็นพระราชกรณียกิจที่สำคัญและเป็นพระราชประสงค์ตั้งแต่แรกเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ เนื่องจากการมีทาสเป็นเครื่องถ่วงความเจริญของบ้านเมือง ใน พ.ศ.๒๔๑๗ โปรดให้ตรา "พระราชบัญญัติพิกัดเกษียณอายุลูกทาสลูกไทย" พร้อมพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อช่วยไถ่ถอนทาสบางส่วนทรงโปรดให้เลิกบ่อนเบี้ยซึ่งเป็นสาเหตุของการซื้อขายทาส อีกทั้งทรงริเริ่มและขยายการศึกษาให้คนได้รู้หนังสือ
          ใน พ.ศ.๒๔๔๘ โปรดให้ตราพระราชบัญญัติทาสรัตนโกสินทร์ศก ๑๒๔ กำหนดให้เลิกทาสทั่วราชอาณาจักร พระบรมราโชบายในการเลิกทาสแบบผ่อนปรนค่อยเป็นค่อยไปทำให้จำนวนทาสลดลงตามลำดับ และเลิกระบบทาสได้สำเร็จโดยปราศจากความวุ่นวาย รวมเวลาทั้งสิ้น ๓๐ ปี
ประเพณีและวัฒนธรรม
       พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จประพาสต่างประเทศหลายครั้ง จึงทรงนำความเจริญต่างๆ มาปรับปรุงบ้านเมืองให้ทันสมัยขึ้น เช่น ใน พ.ศ.๒๔๑๖ โปรดให้ยกเลิกประเพณีการหมอบคลานเวลาเข้าเฝ้า ทรงประกาศยกเลิกตำแหน่ง "กรมพระราชวังบวรสถานมงคล" หรือ "วังหน้า" โดยทรงตั้งตำแหน่ง "สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร" ขึ้นแทนใน พ.ศ.๒๔๒๙ พระองค์โปรดให้มีการปรับปรุงการแต่งกายและทรงผม เช่น เปลี่ยนจากทรงผมมหาดไทยเป็นผมรองทรงแบบฝรั่ง การแต่งกายของข้าราชสำนัก  โปรดให้นุ่งผ้าม่วงโจงกระเบนแทนผ้าสมปักแบบเก่า สวมเสื้อแพรสีตามกระทรวงแทนเสื้อกระบอกแบบเก่า มีพระราชดำริให้ออกแบบเสื้อราชประแตน และให้ทหารนุ่งกางเกงเพื่อพัฒนาเครื่องแบบให้รัดกุม ส่วนการแต่งกายของสตรีโปรดให้ฝ่ายในนุ่งโจง สวมเสื้อแขนยาว ห่มแพรสไบเฉียงบ่านอกเสื้อ สวมถุงน่อง และเกือกบู๊ต หากเป็นงานพระราชพิธีให้นุ่งจีบห่มผ้าตาด หลังจากพระองค์เสด็จกลับจากประพาสยุโรปครั้งแรกใน พ.ศ.๒๔๔๐ การแต่งกายของสตรีมีการเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง เช่น สวมเสื้อแขนหมูแฮมตัดด้วยผ้าลูกไม้ ผ้าไหม ผ้าแพรจากยุโรป แต่ยังนุ่งโจงให้เข้ากับสีเสื้อ สวมถุงเท้า รองเท้าหุ้มข้อแบบตะวันตก นอกจากนี้ยังใช้เครื่องประดับเป็นเข็มกลัดติดเสื้อ สร้อยคอ และสร้อยข้อมือ ส่วนทรงผมมีทั้งทรงดอกกระทุ่มสำหรับสตรีที่เป็นผู้ใหญ่ สำหรับสตรีรุ่นสาวไว้ผมยาว หวีแสกตกแต่งด้วยโบว์ แถบผ้าหรือแถบอัญมณี ใน พ.ศ.๒๔๓๖ โปรดให้จัดพิมพ์หนังสือพระไตรปิฎกด้วยอักษรไทยที่เรียกว่า "พระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ" ขึ้นเป็นครั้งแรก และทรงให้แจกจ่ายไปตามพระอารามและหอสมุดต่าง ๆ ใน พ.ศ.๒๔๔๕ โปรดให้ตราพระราชบัญญัติปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ.๑๒๑ เพื่อให้การปกครองภายในสังฆมณฑลเป็นไปอย่างมีระเบียบ รวมทั้งการบูรณปฏิสังขรณ์วัดทั่วราชอาณาจักร
ทาสสมัยรัชกาลที่ ๕
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงไว้พระเกศารองทรงและทรงฉลองพระองค์
ชุดราชประแตนและโจงกระเบน
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเยี่ยมวังสุลุฮูนัน
เมืองสุรการ์ตรา เกาะขวาใน พ.ศ.2439
ภาพแสดงวิวัฒนาการการแต่งกายของสตรี
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
วัดราชบพิตรสถิตมหาสีมาราม
วัดมหรรณพารามวรวิหาร
โรงเรียนหลวงแห่งแรกสำหรับประชาชน
วัดบวรนิเวศวิหาร
พระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ