TH I EN

 
อาวุธโบราณของไทย

 
 
 
 

อาวุธ หมายถึง เครื่องประหารใช้ในการทำร้ายป้องกันหรือต่อสู้กับฝ่ายตรงข้ามกำเนิดของอาวุธนั้น สันนิษฐานว่าน่าจะเกิดจากความต้องการป้องกันตนเองให้รอดพ้นจากการรุกรานของศัตรู ซึ่งจะเป็นผลทางจิตวิทยา ที่จะทำให้ชาติอื่นยำเกรงครั่นคร้ามไม่กล้ามารุกราน


จากหลักฐานทางโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์พบว่าได้เริ่มมีการใช้อาวุธมาแล้วเมื่อประมาณ 30,000 ปีที่แล้ว โดยอาวุธในสมัยนั้นทำจากวัสดุธรรมชาติได้แก่ หิน ไม้ กระดูกสัตว์ ฯลฯ ต่อมาได้มีการนำโลหะมาทำเป็นอาวุธ เช่น ดาบ หอก ง้าว ธนู และหน้าไม้ นอกจากนั้น ยังพบหลักฐานเกี่ยวกับอาวุธต่างๆ จากภาพจิตรกรรมฝาผนัง ทำให้ได้ทราบถึงชนิดของอาวุธที่ใช้ ซึ่งมักจะเป็นดาบและมีดสั้น เมื่อศึกษาประวัติศาสตร์ของประเทศไทยตั้งแต่สมัยสุโขทัย อยุธยา ธนบุรี และรัตนโกสินทร์ตอนต้น พบว่าในการทำสงครามแต่ละครั้งสิ่งที่สำคัญนอกเหนือจากด้านการทหารแล้ว อาวุธก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สามารถกำหนดผลแพ้หรือชนะได้ ดังนั้นจึงได้ มีการพัฒนารูปแบบของอาวุธอย่างต่อเนื่อง สำหรับดาบซึ่งใช้ในการรบแบบประชิดตัว ได้มีการพัฒนามาให้ใช้ร่วมกับอาวุธปืน เรียกว่า "ดาบปลายปืน" ในปัจจุบันได้มีการพัฒนาอาวุธให้มี อานุภาพร้ายแรงมากขึ้นไปอีกเรื่อยๆ


อาวุธยิง

 
ปืนใหญ่
 
ปืนคาบศิลา
 
 

อาวุธยิงเป็นอาวุธที่สามารถส่งออกไปสังหารข้าศึกได้ในระยะไกล ได้แก่ ธนู หน้าไม้ และ ปืน

ธนูและหน้าไม้


ทำงานโดยการส่งลูกด้วยกำลังยืดหยุ่นของเส้นเชือก หรือกำลังแรงของมนุษย์ ธนูแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ "ธนูยา" และ "ธนูไฟ" ซึ่งในสมัยก่อนถือเป็นอาวุธที่ร้ายแรง ระยะยิงที่หวังผลคือ 100 ก้าวของมนุษย์ ธนูใช้ในการยิงสังหาร ยิงเผา และยิงนำสาส์น หางของลูกธนูทำด้วยขนนกหรือขนไก่


ปืน

ทำงานโดยอาศัยกำลังดินปืนที่ส่งกระสุนออกไป ซึ่งอาวุธปืนมีอยู่ 2 ประเภทคือ "ปืนใหญ่" และ "ปืนเล็ก"


ปืนใหญ่เป็นอาวุธที่ผลิตขึ้นในยุโรป เมื่อประมาณ พ.ศ.1918 สันนิษฐานว่าเริ่มใช้ ครั้งแรกในประเทศไทยในสมัยอยุธยา เมื่อครั้งพระราเมศวรยกกองทัพไปล้อมนคร เชียงใหม่ ในปี พ.ศ. 1972 และได้ใช้ปืนใหญ่ยิงกำแพงเมืองจนได้รับความเสียหาย


ส่วนปืนเล็กมีใช้ครั้งแรกในสมัยอยุธยาเช่นกันชนิดที่ใช้กันแพร่หลาย ได้แก่ ปืนคาบชุด ปืนคาบศิลา และปืนนกสับ ทั้งสามชนิดนี้มีความแตกต่างตรงกลไกในการยิง "ปืนคาบชุด" เป็นอาวุธขั้นพื้นฐาน ผลิตขึ้นในยุโรปเมื่อประมาณ พ.ศ.1993 "ปืนคาบศิลา" ปืนชนิดนี้มีระบบติดไฟ และถูกพัฒนามาจากปืนคาบชุด ส่วน "ปืนนกสับ" เป็นปืนที่มีการ ปรับปรุงรูปแบบมาจากปืนคาบศิลา

 
อาวุธฟันแทง

 
ดาบไทย
 
หอกและทวน
 
 
 

อาวุธฟันแทงได้แก่ ดาบ หอก ทวน ง้าว ใช้สำหรับการรบระยะประชิดตัว เป็นอาวุธประจำตัวทหาร ในสมัยประวัติศาสตร์ ใช้ตามความถนัดมือของตน


ดาบ

เป็นอาวุธที่ใช้รบในระยะประชิดตัว ดาบไทยมีอยู่ด้วยกัน 4 แบบคือ ดาบหัวบัว ดาบหัวตัด ดาบหัวปลาหลด ดาบหัวปลาซิว มีลักษณะแตกต่างกันตามตำแหน่งและฐานะ ของผู้ใช้ในประเทศไทยมีการใช้ดาบในการรบตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นต้นมา อานุภาพของดาบอยู่ที่กำลังของผู้ใช้เป็นสำคัญ ดาบมีส่วนประกอบสำคัญ คือ ตัวดาบ กระบังดาบ ด้ามดาบ


หอก

เป็นอาวุธที่ใช้รบในระยะประชิดตัวอีกแบบหนึ่งมี 2 ชนิด คือ หอกมีกระบังและไม่มี กระบัง มีความยาวตั้งแต่ 2 เมตร ขึ้นไป หอกมีหลายชนิดได้แก่ หอกซัด หอกใบพาย หอกใบข้าว


ทวน

เป็นอาวุธยาวใช้สำหรับทหารม้า มีลักษณะคล้ายหอก ไม่มีกระบัง แต่มีภู่ขนสัตว์ จามรี ผูกไว้เป็นพวงตรงคอทวน


ง้าวและของ้าว

อาวุธทั้งสองชนิดนี้เป็นอาวุธประเภทเดียวกัน แต่แตกต่างกันตรงที่ของ้าวจะมีขอ สำหรับสับช้างติดอยู่บนตัวง้าว ส่วนใหญ่การใช้อาวุธชนิดนี้ มักใช้ในการรบบนหลังช้าง

 

 
เครื่องป้องกันอาวุธ

ในการสงครามเมื่อมีอาวุธสำหรับการรบ ก็จำเป็นจะต้องมีเครื่องป้องกันอาวุธ ซึ่งเครื่องป้องกันอาวุธเหล่านี้จะต้องมีน้ำหนักเบา เพื่อสะดวกแก่การถือไม่ต้องใช้แรงรับน้ำหนักมาก และต้องเหนียวพอที่จะกันคมอาวุธได้ เครื่องป้องกันอาวุธที่เคยใช้กันในสมัยโบราณ ได้แก่ ดั้ง เขน โล่ ฯลฯ

 

ดั้ง

มีลักษณะคล้ายกาบกล้วย ใช้ป้องกันอาวุธของข้าศึกในการรบแบบประชิดตัว มีขนาดกว้างประมาณ 15 เซนติเมตร ยาว ประมาณ 100 เซนติเมตร มักจะใช้คู่กับดาบเรียกว่า ดาบดั้ง


 

เขน

เป็นเครื่องป้องกันอาวุธเช่นเดียวกับดั้ง มีลักษณะกลมตรงกลางนูนคล้ายกะทะ ทำด้วยหวายสาน หนังสัตว์ หรือโลหะ มักใช้คู่กับ ดาบเรียกว่า ดาบเขน


 


โล่

เป็นเครื่องป้องกันอาวุธเช่นเดียวกับดั้ง มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าแบน ๆ ทำด้วย หนังสัตว์ ใช้คู่กับดาบ เรียกว่า ดาบโล่ หรืออาจใช้กับ หอก แหลน หลาว ก็ได้ และทหารที่ประจำอยู่ในหน่วยรบที่ถือโล่ เรียกว่า "พลโล่"




ทบทู

เป็นเครื่องป้องกันโดยใช้บังหรือห่อตัว แต่จะมีลักษณะอย่างไรไม่ปรากฎหลักฐานที่แน่ชัด

ขวาก

เป็นอุปกรณ์ป้องกันประเภทหนึ่ง ทำด้วยวัสดุเนื้อแข็งประเภทดินเผาหรือเหล็ก ใช้โรยเพื่อขัดขวางการเดินทัพของศัตรู เนื่องจากมีความ แหลมคม สามารถทิ่มตำเท้าในขณะเดินทัพได้


 
 
มูลนิธิอนุรักษ์โบราณสถานในพระราชวังเดิม
กองบัญชาการกองทัพเรือ
Copyright @ 2013 http://www.wangdermpalace.org