ภายหลังกรุงศรีอยุธยาแตกในปี 2310 ชาวมุสลิมที่ถือนิกายชีอะห์ หรือสังคมไทยเรียกว่า "เจ้าเซ็น" ได้อพยพหนีพม่าลงมาทางใต้ โดยล่องลงตามแม่น้ำเจ้าพระยา และได้มาพักพิงบริเวณคลองบางกอกใหญ่ โดยอาศัยอยู่ในเรือนแพและเมื่อรัชกาลที่ 1 ขึ้นครองราชย์ ได้พระราชทานที่ดินแปลงหนึ่งบริเวณปากคลองมอญ ระหว่างคลองมอญกับคลองวัดอรุณราชวราราม ให้แก่ท่านก้อนแก้ว ซึ่งได้รับพระราชทานตำแหน่ง เป็นพระยาจุฬาร
ท่านอากาหยี่ น้องชายของท่านก้อนแก้วเป็นบุคคลหนึ่งที่มิได้ย้ายไปอยู่ในที่ดินพระราชทาน เนื่องจากได้จับจองที่ดินไว้ผืนหนึ่ง ในบริเวณที่เรียกว่า เจริญพาศน์ ในปัจจุบัน เมื่อท่านก้อนแก้วได้ถึงแก่กรรม ท่านอากาหยี่จึงได้รับพระราชทาน ให้ดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรีแทน และได้สร้างศาสนาสถาน สำหรับชีอะห์อีกแห่งหนึ่งในที่ดินดังกล่าว ชาวบ้านเรียกกุฎีเจ้าเซ็นของท่านก้อนแก้วว่า กุฎีบน และเรียกกุฎีเจ้าเซ็นของท่านอากาหยี่ว่า กุฎีล่าง
ที่เรียกว่ากุฎีบน กุฎีล่าง สันนิษฐานว่าคงใช้พระราชวังเดิมเป็นเกณฑ์ ถ้าอยู่ด้านเหนือของพระราชวังเดิมเรียกว่า กุฎีบน ถ้าอยู่ใต้พระราชวังเดิมลงมาเรียกว่า กุฎีล่าง ทุกวันนี้ชุมชนกุฎีบนได้ย้ายไปอยู่ที่พรานนกบางกอกน้อย เนื่องจากมีการเวนคืนที่ดินเพื่อใช้ในราชการกองทัพเรือ ซึ่งต่อมาเป็นที่ตั้งของกรมสารวัตรทหารเรือจนถึงทุกวันนี้
ปัจจุบันทั้งกุฎีบน และกุฎีล่าง ยังเป็นศูนย์รวมของการประกอบศาสนกิจของมุสลิมชีอะห์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาเพื่อรำลึกถึงมรณะกรรมของท่านอิมามฮุเซน (หลานของท่านศาสดามุฮัมหมัด) ซึ่งจัดขึ้นในช่วง 10 วันแรกของเดือนมุอัรรอม (เดือนแรกของปีตามปฎิทินอิสลาม) การประกอบพิธีดังกล่าว จะมีการกล่าวบทกลอนซึ่งพรรณาด้วยความเศร้าโศก รันทด สะท้อนเหตุการณ์ครั้งที่ท่านอิมามฮุเซน ได้รับวิบากกรรมจนต้องเสียชีวิตในที่สุด มุสลิมชีอะห์ทั่วโลกจะจัดให้มีพิธีดังกล่าวพร้อมกัน แต่มีรูปแบบของพิธีกรรม แตกต่างกันไปตามวัฒนธรรมของท้องถิ่นนั้นๆ
|