TH I EN

 
เบญจรงค์

 
 
 



 

เบญจรงค์

เบญจรงค์ เป็นชื่อเรียกเครื่องถ้วยชนิดหนึ่งที่มีใช้ในประเทศไทยตั้งแต่สมัยอยุธยาถึงรัตนโกสินทร์ประมาณรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เบญจรงค์เป็นเครื่องถ้วยที่สั่งทำเป็นพิเศษจากประเทศจีน โดยช่างไทยเป็นผู้ออกแบบให้ลายให้สีตามรูปแบบของศิลปะไทย ส่งไปให้ช่างจีนผลิตในประเทศจีนและช่างไทยตามไปควบคุมการผลิตด้วยจึงเป็นถ้วยชามที่มีรูปลักษณะ แบบไทย โดยเฉพาะลวดลายสีสันแสดงเอกลักษณ์ของไทยอย่างชัดเจน



"เบญจรงค์" แปลว่า ห้าสี ชามเบญจรงค์ จึงหมายถึง ชามที่เขียนสีห้าสี แต่ที่ปรากฎใช้สอย มีสีตั้งแต่ 3 สี ขึ้นไปจนถึง 8 สี สีหลักได้แก่ แดง เหลือง ขาว ดำ เขียว หรือน้ำเงิน และสีอื่นๆ ได้แก่ ม่วง แสด น้ำตาล ฯลฯ



ลายน้ำทอง

"ลายน้ำทอง" จัดเป็นเครื่องถ้วยประเภทเดียวกับเครื่องถ้วยเบญจรงค์ แต่มีการเพิ่มสีทอง หรือแต้มสีทอง ระหว่างสีเบญจรงค์ หรือเขียนเส้นตัดสีทองเริ่มมีใช้มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 แต่ได้รับความนิยมมากในสมัยรัชกาลที่ 2


 
สมัยกรุงศรีอยุธยา (พ.ศ.2210-2310)

 
 




 

ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ลวดลายของเครื่องถ้วยเบญจรงค์ที่เป็นที่นิยม กัน ได้แก่ ลายเทพนม-นรสิงห์ หรือเทพนม-ครุฑ เขียนบนพื้นดำ แทรก ด้วยลายกนกเปลว ลวดลายอื่นที่พบได้แก่ ราชสีห์ กินรี ฯลฯ ด้านในของ เครื่องถ้วยเคลือบสีเขียว ส่วนรูปแบบได้แก่ จาน ชามฝา และโถทรงสูง เป็นต้น


 
สมัยธนบุรี (พ.ศ.2310-2325)

 
 
 
 

ในสมัยนี้ได้มีการสั่งผลิตเครื่องถ้วยเบญจรงค์จากประเทศจีน โดยใช้ของสมัยอยุธยาเป็นต้นแบบเครื่องถ้วยสมัยธนบุรีจึงมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า "เครื่องถ้วยเลียนแบบสมัยอยุธยา" แต่ในการผลิตไม่มีช่างของไทยไปควบคุม เนื่องจากบ้านเมืองอยู่ในภาวะสงครามเกือบตลอดเวลา รูปแบบและลวดลาย จึงดูค่อนไปทางแบบจีน และการเคลือบด้านในเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีขาว

 
สมัยรัตนโกสินทร์


รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1) พ.ศ.2325 - 2352

เครื่องถ้วยในสมัยนี้มีลวดลายหลากหลายและมีสีสันสวยงามกว่าสมัยอยุธยา ลวดลายที่พบได้แก่ลายดอกไม้ ก้านต่อดอก และพุ่มข้าวบิณฑ์ เป็นต้น นอกจากนั้นยังมีการเพิ่มสีทองในการตกแต่งลวดลายสำหรับลวดลายที่เป็นที่นิยมกันในสมัยอยุธยา ซึ่งได้แก่ เทพนม-นรสิงห์ เทพนม-ครุฑ ไม่เป็นที่นิยมในสมัยนี้

 
 
สมัยรัชกาลที่ 1 
เครื่องถ้วยเบญจรงค์ลายประจำยาม
 
สมัยรัชกาลที่ 1
เครื่องถ้วยลายน้ำทองลายก้านต่อดอก
 
 


รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2) พ.ศ. 2352 - 2367

สมัยนี้เป็นสมัยที่เครื่องถ้วยเฟื่องฟูที่สุด ทั้งเบญจรงค์และลายน้ำทอง เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยและสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี ทรงสนพระทัยในเครื่องถ้วยได้ทรงคิดรูปแบบและลวดลายด้วยพระองค์เอง แล้วส่งไปผลิตในประเทศจีน พร้อมช่างศิลป์ไทย ลวดลายที่เป็นที่นิยมได้แก่ ลายพุ่มข้าวบิณฑ์ ลายนกไม้ ลายก้านแย่ง ลายก้านต่อดอก และลายกุหลาบน้ำทอง สำหรับลายครุฑยุดนาค ถือเป็นลายประจำพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

 
สมัยรัชกาลที่ 2
เครื่องถ้วยลายน้ำทองลายกุหลาบ
 
สมัยรัชกาลที่ 2
เครื่องถ้วยเบญจรงค์ลายก้านขด
 


รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) พ.ศ. 2367 - 2394

ในรัชกาลนี้ยังมีการสั่งเครื่องเบญจรงค์และลายน้ำทองจากประเทศจีน เครื่องถ้วยบางชิ้นมีเครื่องหมายอยู่ที่ก้นชามทำให้ทราบว่าเป็นของที่สั่งมาในสมัยรัชกาลที่ 3 ลวดลายที่นิยมกันก็คล้ายๆ กับในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยแต่ไม่งดงามเท่า เนื่องจากแหล่งเตาเผาในประเทศจีนเสื่อมโทรม สำหรับสีพื้นของเครื่องถ้วยนิยมใช้เป็นสีขาว


 
สมัยรัชกาลที่ 3
เครื่องถ้วยลายน้ำทองเขียนลายในช่องกระจก
 
สมัยรัชกาลที่ 3
เครื่องถ้วยเบญจรงค์เขียนลายครุฑบนพื้นขาว
 


รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) พ.ศ. 2394 - 2411

ในสมัยนี้เครื่องถ้วยเบญจรงค์และลายน้ำทอง ได้รับความนิยมน้อยลง เนื่องจากมีการนำเข้า เครื่องถ้วยและเครื่องแก้วจากประเทศทางยุโรป นอกจากนั้นยังนิยมสั่งเครื่องลายครามแบบจีน รวมทั้งเครื่องลายครามที่เขียนลายไทยจากประเทศจีนด้วย


 
สมัยรัชกาลที่ 4
เครื่องถ้วยลายครามลายนกไม้นำเข้าจากประเทศจีน
 
สมัยรัชกาลที่ 4
เครื่องถ้วยเบญจรงค์ลายดอกไม้วาดลวดลายและ
เเคลือบทับบนชามลายครามที่นำเข้าจากประเทศจีน
 


รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) พ.ศ. 2411 - 2453

เป็นยุคสุดท้ายของเครื่องถ้วยเบญจรงค์และลายน้ำทอง เป็นสมัยที่นิยมเครื่องถ้วยที่สั่งเข้าจากประเทศทางยุโรป จีน และญี่ปุ่น นอกจากนี้ ยังมีการสั่งชามขาวเข้ามาเขียนลายเอง โดยเผาที่เตาเผาของกรมพระราชวังบวรวิชัยชาญ ส่วนลายที่นิยมเขียนมักเป็นเรื่องราวตามวรรณคดี ไทย พระอภัยมณี มัจฉาณุ อุณรุท เป็นต้น


 
สมัยรัชกาลที่ 5
เครื่องถ้วยเบญจรงค์ลายเทวดา
ผลิตในประเทศญี่ปุ่น
 
สมัยรัชกาลที่ 5
เครื่องถ้วยเบญจรงค์ลายเทพพนม-นรสิงห์
ส่วนฝามีรูปกระต่าย ผลิตในประเทศจีน
 


 
 
 
มูลนิธิอนุรักษ์โบราณสถานในพระราชวังเดิม
กองบัญชาการกองทัพเรือ
Copyright @ 2013 http://www.wangdermpalace.org