TH I EN

 
พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว

 
 
 
 
 

พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยและ สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี และเป็นพระอนุชาร่วมพระชนกชนนีกับพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระนามเดิมว่า "เจ้าฟ้าจุฑามณี" หรือ "เจ้าฟ้าน้อย" เสด็จพระราชสมภพ ณ พระราชวังเดิม เมื่อวันที่ 4 กันยายน พ.ศ.2351 หลังจากที่สมเด็จพระราชบิดาได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเจ้าฟ้าน้อย จึงได้ตามเสด็จพระบรมชนกนาถและพระราชชนนี มาประทับในพระบรมมหาราชวัง และได้รับการเฉลิมพระนามเป็น "สมเด็จ พระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าจุฑามณี" หรือ "เจ้าฟ้าอสุนีบาต"


เมื่อเจ้าฟ้าน้อย ซึ่งในขณะนั้นดำรงพระอิสริยยศ เป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ เจริญพระชนมายุได้ 16 พรรษา ซึ่งตรงกับปี พ.ศ.2367 ได้เสด็จมาประทับ ณ พระราชวังเดิม และประทับที่นี่จนถึงปี พ.ศ.2394


พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระอัจฉริยภาพในด้านต่างๆ อาทิ การทหาร การช่าง วิทยาศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม การกีฬา การละคร การดนตรี และด้านวรรณกรรมอีกทั้งทรงรอบรู้ทางด้านการต่างประเทศอีกด้วย ทรงศึกษาภาษาอังกฤษจากมิชชันนารีอเมริกันจนแตกฉาน และทรงมีพระสหาย เป็นชาวต่างประเทศเป็นจำนวนมากด้วยเหตุนี้พระองค์จึงทรงสามารถช่วยราชการด้านการต่างประเทศได้เป็นอย่างดีโดยทรงเป็นที่ปรึกษาในการทำสนธิสัญญาต่างๆ


หลังจากที่ได้รับพระราชทานบวรราชาภิเษกเป็น "พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว" เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ.2394 ทรงมีศักดิ์สูงเสมอพระมหากษัตริย์เป็น "พระเจ้าประเทศสยามองค์ที่ 2" ได้ทรงย้ายมาประทับ ณ พระบวรราชวัง (ปัจจุบันคือบริเวณพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ) จนสิ้นพระชนม์ลงใน วันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2408 ขณะที่ทรงมีพระชนมายุได้ 58 พรรษา


 
พระราชกิจจานุกิจด้านการทหาร

 
 
 
 
 

ด้านการทหารเรือ

พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารเรือเป็นพระองค์แรกหลังจาก ได้รับพระราชทานบวรราชาภิเษก และทรงดำรงตำแหน่งนี้อยู่จนตลอดพระชนชีพ นับได้ว่าพระองค์เป็นผู้ทรง วางรากฐานการจัดกิจการทหารเรือให้เข้าสู่ระบบสากลตามแบบอย่างอารยะประเทศ สำหรับพระราชกรณียกิจ ด้านทหารเรือนี้เริ่มเป็นที่ประจักษ์ตั้งแต่ช่วงต้นของปี พ.ศ.2384 ซึ่งในขณะนั้นประเทศไทยได้ทำสงครามติดพันกับญวน ติดต่อกันมาหลายปี พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดเกล้าฯ ให้พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว (เมื่อครั้งดำรงพระยศเป็นเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์) เป็น แม่ทัพใหญ่คุมกองทัพเรือ ยกทัพไปตีเมืองบันทายมาศ เพื่อทำให้ญวนเกิดความระส่ำระสายและถ่วงเวลาให้ กองทัพบกของไทยทำการถมคลอง ตัดเส้นทางส่งเสบียงตลอดจนเส้นทางคมนาคมเพื่อป้องกันไม่ให้กองทัพญวนมาตั้งในเขมรได้ แต่การศึกครั้งนั้นฝ่ายไทยจำเป็นต้องยกทัพกลับเพราะกองทัพของญวนได้ทำการสู้รบอย่างเข้มแข็ง


หลังพระราชพิธีบวรราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงจัดตั้งกรมทหารเรือวังหน้าขึ้น พระองค์ทรงทำนุบำรุงด้านกำลังทหารเรืออย่างต่อเนื่อง ทรงสร้างโรงทหารเรือขึ้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาทางทิศใต้ของตำหนักแพ (บริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในปัจจุบัน) นอกจากนั้นยังได้ทรงดัดแปลงกำปั่นไทยให้เป็นเรือรบ 2 ลำ โดยพระราชทานนามว่า "อาสาวดีรส" และ "ยงยศอโยชฌิยา"

ด้านการทหารบก

ป้อมพิฆาตข้าศึก

ในพ.ศ.2375 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์สร้าง "ป้อมพิฆาตข้าศึก" ขึ้นเพื่อรักษาปากน้ำแม่กลองที่สมุทรสงครามนับเป็น พระราชกรณียกิจแรกที่เกี่ยวกับราชการบ้านเมืองซึ่งได้มีการบันทึกไว้ในพระราชพงศาวดาร


กองอาสาญวนและกองทหารต่างด้าว

ในรัชสมัยสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพวกญวนอพยพเข้ามา 3 ครั้งด้วยกัน ในครั้งที่ 2 เมื่อปี พ.ศ. 2377 ได้มีพวกญวนที่นับถือศาสนาคริสต์อพยพเข้ามาด้วย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯ ให้แยกจากพวกนับถือศาสนาพุทธ มาตั้งบ้านเรือนบริเวณสามเสน โดยให้ขึ้นกับสมเด็จเจ้าฟ้า กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ และฝึกหัดให้เป็นทหารปืนใหญ่ ในการอพยพในครั้งที่ 3 ในปีพ.ศ.2383 เป็นพวกญวนที่นับถือศาสนาพุทธ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯ ให้พวกนี้ไปอยู่ที่บางโพธิ์ และขึ้นอยู่กับสมเด็จพระเจ้า น้องยาเธอเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ สังกัดกรมอาสาญวน เป็นพลทหารปืนใหญ่ประจำป้อม นอกจากนั้นพระองค์ยังทรงเป็นผู้บัญชาการทหารปืนใหญ่และทหารต่างด้าว ได้ทรงจัดวิธีการฝึกทหารแบบตะวันตกขึ้น ทรงปรับปรุงและจัดเป็นวิชาการทหารปืนใหญ่ตามแบบยุโรปทั้งทางด้านยุทธศาสตร์และยุทธวิธีโดยใช้ปืน ใหญ่ซึ่งหล่อขึ้นเองด้วยเหล็ก ส่วนเครื่องแบบได้ให้แต่งตามแบบทหารซีปอย


ตำราปืนใหญ่

ในฐานะที่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นแม่กองฝึกยิงปืนใหญ่ และทรงบังคับบัญชาทหารปืนใหญ่ ทำให้จำเป็นต้องมีตำราเพื่อใช้ในการฝึก จึงได้ทรงพระราชนิพนธ์ตำราปืนใหญ่ขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2348 โดยทรงแปลจากตำราภาษาอังกฤษ การหล่อปืนตามแบบวิธีการสมัยใหม่ และการยิงปืน ทรงรวบรวมทำเนียบนามปืนใหญ่ ตลอดจนความเชื่อและเคล็ดลับอาถรรพ์ต่างๆ ของไทยแทรกไว้ด้วย ตำรานี้เดิมใช้ฝึกหัดทหาร ปืนใหญ่ญวน แต่ต่อมาได้ใช้นำมาฝึกหัดทหารปืนใหญ่ของไทยเรื่อยมา จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้มีต้นฉบับเป็นสมุดเขียนตัวรงค์ด้วยลายมืออาลักษณ์


การวางผังถนนเจริญกรุง

เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีความเชี่ยวชาญในเรื่องปืนใหญ่ได้ทรง ทักท้วงการวางผัง การตัดถนนสายตรงจากสามแยกพุ่งเข้ามายังพระนคร เพราะทรงเห็นว่าหากข้าศึกนำปืนใหญ่มาตั้งที่ถนน จะง่ายต่อการยิงเข้าประตูเมือง ดังนั้นจึงได้ตัดถนนเจริญกรุงโค้งอ้อมมาทางสะพานดำรงสถิตซึ่งจะเห็นว่าปัจจุบันถนนนี้มีการหักมุมกันอยู่

 
พระราชกิจจานุกิจด้านศาสนา

 
 
 


พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงบำเพ็ญพระราชกุศลเป็นกิจวัตรตามหมายกำหนดการพระราช พิธีฝ่ายพระบวรราชวัง และยังได้ทรงปฏิสังขรณ์ วัดหงส์รัตนาราม ต่อจากสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี โดยทรงบูรณะทั้งพระอุโบสถ พระวิหาร ศาลาการเปรียญ ศาลาราย สะพานหน้าวัดและส่วนอื่นๆอีกมากมาย จึงมีธรรมเนียมถือกันมาว่าวัดนี้ เป็นวัดในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว นอกจากนั้นยังได้ทรงปฏิสังขรณ์ วัดอื่นๆ อีกด้วย อาทิ วัดศรีสุดาราม, วัดโมลีโลกยาราม, วัดบวรสถานสุทธาวาส และวัดชนะสงคราม เป็นต้น

 
พระราชกิจจานุกิจด้านการศึกษา

 
 
 


พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงแปลหนังสือเกี่ยวกับวิชาการทหารและเครื่องจักรกล จากภาษาอังกฤษมาเป็นภาษาไทยไว้หลายเล่ม รวมทั้งทรงแปลพจนานุกรมภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทยด้วย พระราชหัตถเลขาของพระองค์เอง ได้พบหลักฐานแสดงถึงการเอาพระราชหฤทัยใส่ในการศึกษาของเหล่าข้าราชการในสังกัดของพระองค์ เนื่องจากทรงมีวิสัยทัศน์กว้างไกล ทรงเล็งเห็นถึงประโยชน์ของการจัดการศึกษาให้ทัดเทียมกับอารยประเทศ จึงได้โปรดเกล้าฯให้ข้าราชบริพารได้เล่าเรียนภาษาอังกฤษ และทรงส่งไปศึกษาที่ประเทศอังกฤษและสหรัฐอเมริกา เพื่อนำเอาความรู้และประสบการณ์กลับมาพัฒนา บ้านเมืองต่อไป

 
พระราชกิจจานุกิจด้านการศิลปะ

 
 
 
 

พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดด้านศิลปะทั้งด้านดนตรี กวีนิพนธ์ และนาฎศิลป์ โดยเฉพาะ ทรงสันทัดการทรงแคนและทรงแอ่วอย่างไพเราะ ทรงพระราชนิพนธ์คำแอ่วไว้เป็นจำนวนมากและยังได้ทรงริเริ่มการประดิษฐ์ระนาดทุ้มเหล็กขึ้นเป็นพระองค์แรก โดยมีการจัดเล่นประกอบกับระนาดแบบเดิมรวมเป็นเครื่องดนตรี 4 ชนิด เรียกว่า "ปีพาทย์เครื่องใหญ่" สืบมาจนถึงทุกวันนี้ นอกจากนั้นยังทรงสนับสนุนและ ทรงอุปการะศิลปินที่มีความสามารถ เช่น สุนทรภู่ ครูมีแขก และคุณพุ่ม เป็นต้น

 
พระราชกิจจานุกิจด้านการสาธารณสุข

 
 
 
 

พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อครั้งยังดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอกรมขุน อิศเรศรังสรรค์ ทรงมีความเชื่อถือในการแพทย์สมัยใหม่ได้ทรงนำ Dr. Dan Beach Bradley มิชชันนารี ชาวอเมริกันซึ่งจบวิชาแพทย์ มาถวายการรักษาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะที่ยังทรงผนวชอยู่ นอกจากนั้นยังมีรับสั่งให้ Dr. Dan Beach Bradley ถวายการตรวจสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี ซึ่งเป็นพระราชชนนีที่พระราชวังเดิม แต่การแพทย์สมัยใหม่ยังไม่เป็นที่ยอมรับในราชสำนักจนกระทั่ง Dr. Dan Beach Bradley ได้ปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษเป็นผลสำเร็จ และได้รับพระราชทานรางวัลจาก พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

 
พระราชกิจจานุกิจด้านการต่างประเทศ

 
 
 
 

พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงเป็นที่ปรึกษาในการทำสนธิสัญญากับชาติต่างๆ ในช่วงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องจากทรงสนพระทัยและแตกฉานในภาษาอังกฤษทั้งด้านการอ่านและการเขียนรวมทั้งวิชาการอันทันสมัยตลอดจนขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมของชาติตะวันตก ซึ่งเป็นผลจากได้ทรงรู้จักและสนิทสนมกับมิชชันนารีชาวอเมริกัน ชาวอังกฤษและชาวตะวันตกอีกหลายชาติที่เข้ามาในประเทศไทยตั้งแต่ครั้งยังทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์

 
พระราชกิจจานุกิจด้านวิทยาศาสตร์และประดิษฐ์

 
 
 
 

พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงศึกษาวิชาการทางวิทยาศาสตร์การช่างการต่อเรือ การไฟฟ้า การทำแก๊ส วิชาเคมีโลหวิทยา ตลอดจนการถ่ายภาพและการพิมพ์ จึงนับได้ว่าทรงเป็นผู้ชำนาญในวิชาช่างหลายสาขาตั้งแต่ช่างแก้นาฬิกา จนถึงช่างจักรกล มีหลักฐานปรากฎว่าพระองค์ได้รับสั่ง ให้ Dr. Samuel House เข้าเฝ้าเพื่อถวายคำแนะนำในเรื่องวิทยาศาสตร์ และการทดลองต่าง ๆ อยู่เสมอ พระองค์ได้ทรง แปลหนังสือภาษาอังกฤษเกี่ยวกับวิชาการทหารและเครื่องจักรเป็นภาษาไทยไว้หลายเล่ม และได้ทรงร่วมกับ Rev. J.H. Chandler สร้างเรือขับเคลื่อนด้วยเครื่องจักรไอน้ำ ที่ต่อมาเรียกว่า "เรือกลไฟ" หรือ "เรือไฟ" เป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยได้ทรงทดลองแล่นในแม่น้ำเจ้าพระยา นอกจากนี้พระองค์ยังทรงต่อเรือพระ ที่นั่งชนิดบาร์กบ้าง สกูเนอร์บ้างอีกหลายลำด้วยกัน นอกเหนือจากเรือรบที่ใช้ในราชการทหารเรือของวังหน้า และยังได้ทรงหล่อปืนใหญ่ด้วยเหล็กเพื่อใช้ในราชการแผ่นดินตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว


พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระอุปนิสัยขี้เล่น ไม่โปรดพิธีรีตองรวมทั้งไม่โปรดเสด็จในงานพระราชพีธีต่างๆ ทรงเชื่อในเรื่องไสยศาสตร์ แต่ก็ทรงสนพระราชหฤทัยในวิทยาศาสตร์และเครื่องจักรกล ทรงพระปรีชาสามารถในด้านการช่างหลายประเภท ทรงนิยมขนบธรรมเนียมอย่างชาติทางตะวันตก ที่เห็นได้ชัดคือการแต่งพระองค์และทรงไว้พระมัสสุ ซึ่งภายหลังเป็นที่นิยมกันในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว นอกจากนั้นยังทรง เป็นหนึ่งในกลุ่มบุคคลที่ได้เริ่มใช้บัตรพระปรมาภิไธยอย่างฝรั่งขึ้นในประเทศไทย รวมทั้งนำการตั้งเสาและเชิญธงมาใช้ทรงโปรดกีฬาบนหลังม้าทรงพระปรีชาสามารถในการทรงม้าและทรงช้างเป็นอย่างยิ่ง ทั้งยังโปรดทางศิลปะ ทั้งด้านดนตรี การประพันธ์ และนาฎศิลป นอกจากนั้นยังสามารถทรงแคนและทรงแอ่ว ได้อย่างไพเราะและชัดเจน

     
     
 
มูลนิธิอนุรักษ์โบราณสถานในพระราชวังเดิม
กองบัญชาการกองทัพเรือ
Copyright @ 2013 http://www.wangdermpalace.org