สาระน่ารู้กรุงธนบุรี

เมืองธนบุรี

ในปัจจุบันเมืองธนบุรีอาจมีฐานะเป็นเพียงเขตเล็กๆ เขตหนึ่งของกรุงเทพมหานคร แต่ในอดีตพบว่าเมืองธนบุรีมีความสำคัญในฐานะราชธานีของไทยในระหว่างปี พ.ศ.2310 - 2315 แม้ว่าจะเป็นเพียงระยะเวลาสั้นๆเพียง 15 ปี แต่ก็นับว่ามีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์ของชาติไทยเป็นอย่างยิ่งอีกทั้งยังปรากฏโบราณสถานที่สำคัญในสมัยธนบุรี คือ พระราชวังเดิม (ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของกองบัญชาการกองทัพเรือ) รวมทั้งวัดวาอารามต่างๆเป็นจำนวนมาก ดังนั้นในปัจจุบันเมืองธนบุรีจึงได้รับการอนุรักษ์และพัฒนาควบคู่กันไป

 
 
 
 
 
 

ความเป็นมา

เมืองธนบุรี หรือ บางกอกในอดีต คือ ฝั่งพระนครและฝั่งธนบุรีในปัจจุบัน ซึ่งเคยเป็นแผ่นดินเดียวกันมาก่อนๆ เป็นที่ราบสามเหลี่ยมปากน้ำเจ้าพระยาที่อุดมสมบูรณ์มีแม่น้ำเจ้าพระยา และลำคลองต่างๆที่กระจายอยู่ทั่วบริเวณ ดังนั้นจึงมีข้อสันนิษฐานว่าคำว่า "บางกอก" นั้นอาจจะเพี้ยนมาจากเดิมว่า "บางเกาะ" ด้วยความที่พื้นที่ดังกล่าวมีลักษณะเป็นเกาะเล็กเกาะน้อยจากแม่น้ำลำคลองต่างๆ


เดิมแม่น้ำเจ้าพระยาไหลคดเคี้ยวมากตั้งแต่นนทบุรี ลงมายังพระนครกล่าวคือ แม่น้ำเจ้าพระยาจะไหลจากทางเหนือ ผ่านเขตเมืองนนทบุรีลงมาถึงสะพานปิ่นเกล้า แล้วไหลวกไปทางตะวันตกเข้ามาทางคลองบางกอกน้อยอ้อมผ่านตลิ่งชัน บางระมาดแล้ววกกลับเข้าคลองบางกอกใหญ่ (หรือคลองบางหลวง) แล้วไหลลงทางใต้ไปออกทะเลอ่าวไทย เป็นลักษณะรูปเกือกม้า ซึ่งความคดเคี้ยวของแม่น้ำนี้ทำให้สองฟากฝั่งของแม่น้ำกลายเป็นที่ดอนซึ่งเหมาะแก่การตั้งบ้านเรือน และกลายเป็นชุมชนขนาดใหญ่ซึ่งเรียกกันภายหลังว่า "ย่านบางกอก" แต่ในเวลาเดียวกัน ก็ทำให้เสียเวลาในการเดินทางไปมาระหว่างกรุงศรีอยุธยากับหัวเมืองชายทะเลตะวันออก


ดังนั้นในสมัยของสมเด็จพระไชยราชาธิราช (พ.ศ.2077 - 2089 ) จึงโปรดให้ขุดคลองลัดบางกอกขึ้น เพื่อเชื่อมแม่น้ำเจ้าพระยาเดิมที่ไหลอ้อมเข้าไปทางคลองบางกอกน้อย ออกคลองบางกอกใหญ่ (คือขุดตั้งแต่หน้าสถานีรถไฟบางกอกน้อย จนถึงหน้าวัดอรุณราชวรารามในปัจจุบัน) การขุดคลองลัดดังกล่าวทำให้กระแสน้ำเปลี่ยนทางเดินน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาส่วนใหญ่จึงไหลไปทางคลองขุดใหม่ และเซาะตลิ่งสองข้างจนกว้างขึ้น กลายเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาใหม่ (บริเวณที่ผ่านหน้าโรงพยาบาลศิริราช และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ทุกวันนี้) ส่วนลำน้ำเดิมก็ค่อยๆ ตื้นเขินขึ้นลดขนาดลงเป็นลำคลอง ได้แก่ คลองบางกอกน้อย คลองชักพระ (คลองตลิ่งชัน) คลองบางขุนศรี คลองบางเชือกหนัง คลองวัดประดู่ และคลองบางกอกใหญ่ ดังที่เห็นในปัจจุบัน

เมื่อขุดคลองลัดสำเร็จเมืองบางกอกหรือเมืองธนบุรีจึงถือกำเนิดขึ้น ทางฝั่งตะวันตก หัวมุมคลองบางกอกใหญ่ กลายเป็นเมืองที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ และได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นเมืองหน้าด่านทางทะเล ทำหน้าที่ป้องกันศัตรูที่จะเข้ามาทางใต้ของกรุงศรีอยุธยา พร้อมทั้งตรวจตราจัดเก็บภาษีสินค้าที่ผ่านเข้าออก โดยปรากฏชื่อครั้งแรกในพระราชพงศาวดาร ในสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ (พ.ศ. 2091 - 2111) ว่า "เมืองธนบุรีศรีมหาสมุทร" แต่โดยทั่วไปนิยมเรียกกันสั้นๆ เพียง "ธนบุรี" ส่วนชื่อ "เมืองบางกอก" นั้นคงเป็นชื่อสามัญที่ชาวบ้านและชาวต่างประเทศนิยมเรียกดังปรากฏชื่อบางกอกในแผนที่และเอกสารของชาวต่างชาติ


เมืองธนบุรีมีความสำคัญเพิ่มขึ้นในฐานะเมืองหน้าด่านทางทะเล โดยเฉพาะเมื่อการค้ากับต่างประเทศเจริญรุ่งเรืองขึ้นถึงขีดสุด ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พ.ศ.2199 - 2231) เนื่องจากเป็นเมืองท่าพักเรือต่างชาติที่เดินทางขึ้นล่องระหว่างกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระนารายณ์ฯ จึงโปรดให้กองทหารฝรั่งเศส ขึ้นมาสร้างป้อมขึ้นทั้งสองฝั่งของแม่น้ำเพื่อป้องกันข้าศึกซึ่งมาทางทะเล โดยเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ (คอนสแตนติน ฟอลคอน) เป็นผู้กำกับการสร้างเมื่อสร้างป้อมเสร็จจึงพระราชทานนามว่า "ป้อมวิไชยเยนทร์" และโปรดเกล้าฯให้ทหารต่างชาติทั้งโปรตุเกส และฝรั่งเศสมาประจำที่ป้อม ภายหลังที่สมเด็จพระนารายณ์ฯสวรรคต ป้อมทั้งสองของเมืองธนบุรี (ป้อมฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตก) กลายเป็นสมรภูมิรบระหว่างฝ่ายไทย กับกองทหารฝรั่งเศสที่ประจำป้อม ซึ่งในท้ายที่สุดฝรั่งเศสเป็นฝ่ายที่ต้องยอมแพ้ และถอนกำลังออกจากราชอาณาจักรไทย จากนั้นสมเด็จพระเพทราชาโปรดเกล้าฯ ให้รื้อป้อมบางกอกทางฝั่งตะวันออก โดยให้คงเหลือแต่ป้อมทางฝั่งตะวันตก (ป้อมวิไชยเยนทร์) ไว้เท่านั้น ในคราวกรุงศรีอยุธยาเสียให้แก่พม่าในปี พ.ศ.2310 พม่าได้ยึดเมืองบางกอกและแต่งตั้งให้นายทองอิน (คนไทยที่ไปเข้ากับฝ่ายพม่า) รักษาป้อมและเมืองบางกอก และหลังจากที่สมเด็จพระเจ้าทรงกอบกู้เอกราชได้สำเร็จ จึงโปรดฯ ให้บูรณะเมืองธนบุรีเพื่อใช้เป็นราชธานี



 
 
 
 
 

การสถาปนากรุงธนบุรี

การสถาปนากรุงธนบุรีหลังจากสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชกอบกู้เอกราชสำเร็จในปี พ.ศ.2310 ทรงมีพระราชดำริว่ากรุงศรีอยุธยามีสภาพทรุดโทรมมาก ไม่สามารถซ่อมแซมฟื้นฟูให้กลับคืนสภาพเดิมได้ จึงทรงตัดสินพระทัยสร้างราชธานีใหม่ขึ้นที่เมืองธนบุรี เนื่องจากเมืองธนบุรีมีชัยภูมิที่ดี เป็นเมืองหน้าด่านชายทะเล ควบคุมเส้นทางเดินเรือเข้าออกประกอบกับเป็นเมืองที่มีป้อมปราการ และวัดวาอารามอยู่เป็นจำนวนมากไม่จำเป็นต้องเสียเวลาก่อสร้างขึ้นมาใหม่ เป็นเมืองขนาดย่อมซึ่งพอเหมาะกับกำลังที่จะรักษาไว้ได้ และอยู่ปากแม่น้ำ หากเพลี่ยงพล้ำไม่สามารถรักษาเมืองไว้ได้จริงๆก็สามารถหลบหลีกศัตรูออกสู่ทะเล กลับไปตั้งมั่นที่จันทบุรีได้โดยสะดวก อีกทั้งตั้งอยู่บริเวณที่มีลำน้ำลึกใกล้ทะเล ถ้าข้าศึกไม่มีทัพเรือที่เข้มแข็งแล้วก็ยากที่จะตีเมืองธนบุรีได้


การสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานีจำเป็นต้องขยายพื้นที่เพื่อรองรับประชาชนที่หนีภัยสงครามมา และปรับปรุงให้เหมาะสมทางยุทธศาสตร์มากขึ้น ดังนั้นสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชจึงโปรดเกล้าฯ ให้ขยายเมืองไปทางทิศเหนือจนจรดคลองบางกอกน้อย พร้อมกับสร้างกำแพงเมืองตามแนวคลองขุดใหม่มีชื่อเรียกเป็นตอนๆ ว่าคลองบ้านขมิ้น คลองบ้านช่างหล่อ คลองบ้านหม้อ คลองวัดท้ายตลาด ส่วนทางทิศตะวันออกขยายไปจรดคลองคูเมืองที่ขุดขึ้นใหม่ (ปัจจุบันเรียกว่า"คลองหลอด") ทำให้แม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่านกลางเมืองแล้วสร้างกำแพงเมืองขึ้นตามแนวคลองคูเมือง (กำแพงเมืองนี้ต่อมาได้ถูกรื้อลง โดยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงขยายแนวกำแพงเมืองออกไปตามแนวคลองโอ่งอ่าง และคลองบางลำภู) ส่วนป้อมวิไชยเยนทร์ได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น "ป้อมวิไชยประสิทธิ์" พร้อมทั้งให้ขุดที่สวนเดิมเปลี่ยนเป็นท้องนานอกคูเมืองทั้ง 2 ฟากซึ่งเรียกว่า "ทะเลตม" ไว้สำหรับเป็นที่นาใกล้พระนคร

สำหรับขอบเขตของราชธานีแห่งใหม่นี้ ครอบคลุมสองฝั่งน้ำ โดยมีแม่น้ำเจ้าพระยาตัดผ่านกลางเมือง พื้นที่ในกำแพงเมือง ฝั่งตะวันตกเริ่มตั้งแต่เขตเมืองธนบุรี เดิมริมคลองบางกอกใหญ่ ไปจนถึงบริเวณหลังวัดบางหว้าน้อย (วัดอินทาราม) ริมคลองบางกอกน้อย ส่วนฝั่งตะวันออกเริ่มตั้งแต่ศาลเทพารักษ์หัวโชค (เชิงสะพานพระปิ่นเกล้าฝั่งพระนคร) เลียบตามแนวคูเมือง (คลองคูเมืองบริเวณหลังกระทรวงมหาดไทย) ไปจรดแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณปากคลองตลาด โดยภายในกำแพงเมืองธนบุรีเดิม เป็นที่ตั้งของพระราชวังกรุงธนบุรี






กรุงธนบุรีเป็นราชธานีเพียง 15 ปี หลังจากที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชสวรรคต พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงปราบดาภิเษก ขึ้นเป็นปฐมบรมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี และทรงย้ายราชธานีจากฝั่งตะวันตก มายังฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้พระราชวังกรุงธนบุรีว่างลงกรุงธนบุรีจึงถูกลดความสำคัญ และกลายเป็นส่วนหนึ่งของกรุงรัตนโกสินทร์ สำหรับพระราชวังกรุงธนบุรี ได้กลายเป็นที่ประทับของพระบรมวงศานุวงศ์ จนถึงในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานให้กองทัพเรือ ใช้เป็นที่ตั้งของโรงเรียนนายเรือ และภายหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้เป็นที่ตั้งของกองบัญชาการกองทัพเรือจนถึงปัจจุบัน

     
     
 
มูลนิธิอนุรักษ์โบราณสถานในพระราชวังเดิม
กองบัญชาการกองทัพเรือ
Copyright @ 2013 http://www.wangdermpalace.org