สถานที่ท่องเที่ยวย่านธนบุรี

 
 
 
 
พระบรมราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

พระบรมราชานุเสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ณ วงเวียนใหญ่ เป็นพระบรมราชานุเสาวรีย์ที่ออกแบบและหล่อโดยศาสตราจารย์ ศิลป พีระศรี ซึ่งเป็นพระบรมรูปทรงเครื่องกษัตริย์ ประทับบนหลังม้า ทรงพระมาลา เบี่ยงหันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้สู่จันทรบุรี พระหัตถ์ขวา ทรง พระแสงดาบชูออกไปเหนือพระเศียร พระหัตถ์ซ้ายทรงบังเหียน ท่านำพลรุกไล่ข้าศึก การเดินทางมาวงเวียนใหญ่นั้น เดินทางโดยทางบกจะสะดวกกว่าทางอื่น

 


 
 
 
 
พระราชวังเดิม

ตั้งอยู่ใกล้กับป้อมวิไชยประสิทธิ์ สมเด็จพระเจ้า กรุงธน บุรี ทรงสร้างเมื่อสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานีใน พ.ศ. 2311 โดยใช้พื้นที่ในบริเวณกำแพงป้อมวิไชยเยนทร์ ทางฝั่งตะวันตก ของแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นที่ตั้งของพระราชวัง ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 1 ได้ทรงย้ายพระนคร มาตั้งทางฝั่งตะวันออก จึงทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ ให้รื้อกำแพงพระนครฝั่งตะวันตก และกำหนดเขต พระราชวังเดิมให้แคบลง เพื่อใช้เป็นที่ประทับ ของพระราชวงศ์ชั้นสูง จนถึงสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรม พระจักรพรรดิพงศ์ ซึ่งได้ประทับเป็นพระองศ์สุดท้ายสิ้นพระชนม์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงพระราชทาน พระราชวังเดิมให้แก่กรมทหารเรือเพื่อจัดตั้งโรงเรือนายเรือ โดยมีพระประสงค์ให้รักษาอาคารที่สำคัญบางแห่งไว้ ได้แก่ ท้องพระโรง ตำหนักเก๋งคู่หลังใหญ่ ตำหนักเก๋งคู่กลังเล็ก ตำหนักเก๋งพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช


 
 
 
 
วัดโมลีโลกยาราม

เดิมชื่อวัดท้ายตลาด เป็นวัดโบราณสมัยกรุงศรีอยุธยา ไม่มีพระสงฆ์จำพรรษา แต่ในสมัยรัชกาลที่ 1 ทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯให้นิมนต์พระสงฆ์มาอยู่วัดนี้ สมัยรัชกาลที่ 2 ทรงปฎิสังขรณ์ และพระราชทานนามว่า"วัดพุทไธสวรรย์" ภายหลังจึงเปลี่ยนมาเป็น " วัดโมลีโลกยาราม" ในสมัย รัชกาลที่ 3

ภายในพระอารามมีพระตำหนักสมเด็จ พระพุทธโฆษาจารย์ ซึ่งมีรูปปูนปั้นทหารฝรั่งเศส สมัยสมเด็จ พระนารายณ์มหาราช ที่ค้นพบในป้อมวิไชยประสิทธิ์ ถูกเก็บรักษาไว้และยังมีหมู่กุฎีสงฆ์สร้างด้วยไม้เรียงราย อยู่ริมคลองบางกอกใหญ่ มีลักษณะแบบศิลปะจีนผสมไทย เป็นแบบที่แปลกและใหญ่โตไม่เหมือนที่ใด เปิดเวลา 06.00-17.00 น. โทร. 0-2472-3183 วัดโมลีโลกยารามตั้งอยู่ซอยแยกจาก ถนนอรุณอมรินทร์ช่วงปากทางคลองบางกอกใหญ่


 


 
 
 
 
วัดกัลยาณมิตรวรวิหาร

เป็นวัดที่เจ้าพระยานิกรบดินทร์ ( โต กัลยาณมิตร) ได้อุทิศบ้านและที่ดินบริเวณใกล้เคียงซึ่งเดิมเรียกว่าหมู่บ้านกุฏีจีน สร้างเป็นวัดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 แล้วถวายเป็นอารามหลวง ได้รับพระราชทานนามว่า วัดกัลยาณมิตร รัชกาลที่ 3 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระวิหารหลวง และพระประธานนาม พระพุทธไตรรัตนนายก พระพุทธรูปปูนปั้นปางมาวิชัย ที่ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพ ฯ เรียกกันว่า หลวงพ่อโต โดยมีมูลเหตุเนื่องมาจากรัชกาลที่ 3 ทรงมีพระราชดำริ จะให้วัดในกรุงรัตนโกสินทร์ มีพระโตอย่างวัดพนัญเชิงในสมัยกรุงศรี อยุธยา แต่ชาวจีนมักเรียกว่า "ซำปอฮุดกง" หรือ "ซำปอกง" โดยทุกปีจะมีเทศกาลที่บรรดาชาวจีนร่วมกับทางวัดจัดงานนมัสการมี การแสดงงิ้ว ทิ้งกระจาด และเสี่ยงทาย เป็นประจำในวันสิ้นเดือน 9 ของทุกปี อยู่ในถนนเทศบาลสาย 1 เชื่อมต่อจากถนนประชาธิปก เชิงสะพาน พุทธยอดฟ้า เปิดทุกวันเวลา 06.00- 17.00 น. โทร. 0-2465-2471 สามารถเดินทางได้ทั้งทางบกและทางน้ำ


 
 
 
 
พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติเรือพระราชพิธี

อยู่ริมคลองบางกอกน้อยสร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัย สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เพื่อใช้เก็บเรือพระราชพิธี กระบวนพยุหยาตราทางชลมารค เดิมอยู่ในการดูแลของกองทัพเรือ ปัจจุบันได้รับอนุมัติยกฐานะเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ โรงเรือพระราชพิธีเรือพระราชพิธีที่เก็บอยู่ ได้แก่ เรือพระทีนั่ง สุพรรณหงษ์ เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช เรือพระที่นั่งเอนกชาติภุชงค์ และเรือสำคัญอื่น ๆ อีกหลายลำ นอกจากนี้ ยังมีเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ ซึ่งเป็นเรือพระราชพิธี ลำล่าสุด ที่กองทัพเรือ น้อมเกล้าถวายแด่พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน เปิดทุกวันเวลา 09.00 - 17.00 น. โทร. 0-2424-0004 ค่าเข้าชมคนไทยคนละ 10 บาท ชาวต่างชาติคนละ 30 บาท พิพิธภัณฑ์ ตั้งอยู่ในซอย อู่เรือพระราชพิธีแยกจากถนน อรุณอมรินทร์ สถานที่จอดรถ บริเวณซอยใกล้พิพิธภัณฑ์


 
 
 
 
ชุมชนกุฏีจีน

กุฎีจีนเป็นชุมชนชาวจีนที่อพยพมาจากกรุงศรีอยุธยา มาตั้งบ้านเรือนอยู่ริมคลองวัดกัลยาณ์ ตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี ส่วนใหญ่ เป็นชาวฮกเกี้ยนที่เรียกว่ากุฎีจีน เพราะมีศาลเจ้าซึ่งชาวจีนที่นี้สร้างไว้ ตรงหัวแม่น้ำ ในสมัยนั้น (ปัจจุบันคือศาลเจ้าเกียนอันเกง) ภายหลัง ได้มีฝรั่งเชื้อสาย โปตุเกสย้ายมาอยู่ด้วย จึงเรียกว่าฝรั่งกุฎีจีน ซึ่งกลายมา เป็นชื่อขนมฝรั่งกุฎีจีน อันเป็นขนมที่มีชื่อเสียงอยู่คู่ชุมชน แห่งนี้มาจนปัจจุบัน


 
 
 
 
พิพิธภัณฑ์ศิริราช

โรงพยาบาลศิริราช เดิมเรียกว่าโรงพยาบาลวังหลัง เป็นโรงพยาบาลแห่งแรกของเมืองไทย ที่มีการรักษาพยาบาล ผู้ป่วยด้วยการแพทย์สมัยใหม่ เกิดขึ้นจากพระราชดำริ ของพระบาท สมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ภายหลังจากที่ได้ทรงสูญเสีย พระราชโอรสคือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ เนื่องด้วยโรคบิดในขณะที่มีพระชันษาเพียง 1 ปี 7 เดือน พระองค์จึงได้พระราชทานพระราชพระราชทรัพย์ส่วน พระองค์เป็นค่าก่อสร้างโรงพยาบาลในพื้นที่ที่เคยเป็นที่ตั้งของ วังหลังและได้พระราชทานนาม เพื่อเป็นที่ระลึกถึงพระโอรส ผู้จากไป ในครั้งนั้นว่า "คิริราชพยาบาล"


นอกจากจะเป็นโรงพยาบาลแล้ว ภายในยังเป็นที่ตั้ง ของพิพิธภัณฑ์ด้านการแพทย์ต่างๆ สำหรับให้นักศึกษาแพทย์ ใช้ศึกษา รวมทั้งเปิดให้ผู้สนใจทั่วไปเข้าชมการเดินทาง สะดวกทั้งทางน้ำและทางบก

 

 


 
 
 
 
สถานีรถไฟบางกอกน้อย

หรือสถานีรถไฟธนบุรี สร้างขึ้นในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม อาคารทำการมีหอนาฬิกา เป็นอาคารกลุ่มเดียว กับสถานีรถไฟหัวลำโพง ปัจจุบันสถานีรถไฟบางกอกน้อย ให้บริการขบวนรถไฟ ที่เดินทางไปยังจังหวัดนครปฐม หัวหิน และ กาญจนบุรี โดยเฉพาะรถขบวนพิเศษ เพื่อบริการนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และชาวต่างประเทศ ที่เดินทางไปเที่ยวน้ำตกไทรโยค และสะพานข้ามแม่น้ำแคว สถานีรถไฟบางกอกน้อย สามารถเดินทางเข้าถึงได้ทั้งรถทาง รถยนต์และทางเรือ โดยข้ามฟากจากท่าพระจันทร์ และ เรือด่วนเจ้าพระยา ตั้งอยู่ปากคลองบางกอกน้อย เปิดบริการทุกวัน โทร. 0-2411-3102



 
 
 
 
ป้อมวิไชยประสิทธิ์

ป้อมวิไชยประสิทธิ์ หรือเดิมเรียกว่า "ป้อมวิไชยเยนทร์" สร้างขึ้นใน สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เพื่อใช้เป็นป้อมปราการ ของเมืองบางกอก อันเป็นเมืองหน้าด่านสำคัญ เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงสถาปนา กรุงธนบุรีเป็นราชธานี ได้ทรงสร้างพระราชวังขึ้นบริเวณปากคลองบางกอกใหญ่ พร้อมกับปรังปรุงป้อมแห่งนี้และพระราชทานว่า "ป้อมวิไชยประสิทธ์" ปัจจุบันป้อมนี้ใช้เป็นที่ยิงสลุต ในพระราชพิธีสำคัญต่างๆและติดตั้งเสาธง เพื่อชักธงราชนาวีและธงผู้บัญชาการทหารเรือ



 
 
 
 
บ้านบุ

บ้านบุเป็นชุมชนเก่าอยู่ริมคลองบางกอกน้อยทางเหนือ ของสถานีรถไฟ เดิมชาวบ้านมีอาชีพทำเครื่องทองลงหินมาหลายชั่วอายุคน ดังมีชื่อปรากฏในนิราศพระแท่นดงรังของนายมี ซึ่งแต่งไวตั้งแต่ พ.ศ. 2379 เล่ากันว่าชุมชนนี้อพยพมาจากอยุธยาครั้งกรุงศรีอยุธยาแตก แต่นักวิชาการบางกลุ่มเชื่อว่าเป็นชุมชนที่อพยพมาจากเวียนจันทน์ ในช่วงรัตนโกสินทร์ตอนต้น อย่างไรก็ตามเครื่องทองลงหินนี้เป็นงาน หัตถกรรมที่มีชื่อเสียงของไทยอย่างหนึ่ง แต่เดิมจะซื้อทองม้าฬ่อ อันเป็นพวกฆ้อง โล่แตกๆ จากเมืองจีน มาหลอมใหม่เป็นขันน้ำพานรอง ถาด เครื่องดนตรีไทย หรือหล่อเป็นลำกล้องปืนใหญ่ ตลอดจนหล่อ เป็นพระพุทธรูป ต่อมาเมื่อทราบส่วนประกอบ ของทองม้าฬ่อ ว่าประกอบด้วยทองแดงและดีบุก จึงไม่ต้องสั่งโลหะมาหลอมใหม่อีก ปัจจุบันเมื่อผ่านไปย่านนี้ก็ยังพอจะได้ยินเสียงฆ้อนทุบขัน หรือเครื่องหล่อให้เรียบดังอยู่บ้าง แม้จะเหลือทำเป็นอุตสาหกรรม อยู่เพียงกี่ครัวเรือนการเดินทางสามารถมาได้ทั้งทางบกและ ทางน้ำซึ่งสามารถนั่งเรือหางยาว สายบางใหญ่ จากท่าช้างแล้วมาลง ที่ท่าน้ำของเขตบางกอกน้อย ส่วนทางบกสามารถเดินทางไปบ้าน บุด้วยรถยนต์โดย อาศัยเส้นทาง ถนนจรัญสนิทวงศ์ได้สะดวกมาก


 
 
 
 
ตลาดพลู

ตลาดพลูเป็นชื่อที่ได้จากการเป็นศูนย์กลางการค้าขาย หมากพลูของบางกอกสมัยต้นรัตนโกสินทร์ เดิมตลาดขายหมาก พลูตั้งเรียงรายริมฝั่งคลองบางหลวง ตั้งแต่วัดราชคฤห์ไปจรด วัดอินทาราม ลึกเข้าไปด้านหลังวัด (ปัจจุบันคือด้านหน้า วัดติดถนนเทอดไท ) เป็นสวนพลูสวนหมากของชาวจีนแหล่งใหญ่ สุดในบางกอก ผู้สนใจอยากสัมผัสกับบรรยากาศดั้งเดิมสามารถ เดินเที่ยวลัดเลาะ ไปตามถนนเลียบ แม่น้ำข้างวัดดังกล่าว จะเห็นอาคารพาณิชย์ บ้านเรือนอาศัยแบบจีนที่มีลวดลายปูนปั้น กับลายไม้ฉลุประดับหลงเหลือให้ชมอยู่บ้าง และหากข้ามฟากถนนเทอดไท ลัดเลาะเข้าไปในซองตรงข้ามกับวัดราชคฤห์ (เทอดไท 21) มีโรงเจเซี่ยเข่งตั๊ว โรงเจเก่าแก่ของย่าน และเลยไปหลังสถานีรถไฟ ตลาดพลู มีศาลเจ้าตึกดินกับโรงเรียนสอน ภาษาจีนกงลี้จงซันอยู่ใน อาณาบริเวณเดียวกัน แม้เป็นสถานที่เก่าแก่แต่ได้รับการบูรณะ ใหม่แล้ว



 
 
 
 
ตลาดน้ำตลิ่งชัน

จัดเฉพาะวันเสาร์ - อาทิตย์ ตั้งแต่เวลา ประมาณ 08.00-1600 น. ที่บริเวณท่าน้ำ หน้าสำนักงาน เขตตลิ่งชัน มีพ่อค้า แม่ค้า พายเรือ มาขายอาหารที่บริเวณแพริมน้ำ ในคลองชักพระ และ มีเรือทัวร์ ของเอกชน พาชมคลอง ชมสวน และได้เห็น วิถีชีวิตความเป็นอยู่ริมน้ำ ของชาวตลิ่งชัน ติดต่อสอบถามละเอียด เพิ่มเติมได้ที่สำนักงานเขต ตลิ่งชัน โทร. 0-424-1742 และ 0-2424-443


 
 
 
มูลนิธิอนุรักษ์โบราณสถานในพระราชวังเดิม
กองบัญชาการกองทัพเรือ
Copyright @ 2013 http://www.wangdermpalace.org