จากค่ายทหารฝรั่งเศสสู่ค่ายตากสิน
      โบราณสถานในค่ายตากสิน หรือ " โบราณสถานค่ายทหารฝรั่งเศส สืบเนื่องจากวิกฤตการ ร.ศ. ๑๑๒  (พ.ศ.๒๔๓๖) รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นหลักฐานทาง ประวัติศาสตร์ที่ยังหลงเหลืออยู่จากสมัยที่มีการล่าอาณานิคม ทำให้เกิดเหตุการณ์ที่เรียกว่าวิกฤตการณ์ ร.ศ. ๑๑๒ ซึ่งฝรั่งเศสเรียกร้องค่าเสียหายจากสยาม ในระหว่างการเจรจาเรียกค่าชดเชย กองทหารฝรั่งเศสได้เข้ายึดจันทบุรีไว้เป็นประกัน และตั้งค่ายทหารขึ้นบริเวณบ้านลุ่ม หรือบริเวณที่เป็นค่ายตากสินในปัจจุบัน
      ค่ายตากสินจันทบุรี เป็นสถานที่ตั้งของกองพันทหารราบที่ ๒ กรมทหารราบที่ ๑ กองพลนาวิกโยธิน อยู่ที่บริเวณ ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำจันทบุรี เมืองจันทบุรีโบราณที่บ้านลุ่ม มีความสำคัญอย่างยิ่งในประวัติศาสตร์ไทย เมื่อครั้งสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้ทรงยกทัพมาตีเมืองจันทบุรีแล้วยึดเป็นที่ตั้งมั่นในการเตรียมการกู้ชาติหลังจากเสียกรุงศรีอยุธยาให้แก่พม่าในปี พ.ศ.๒๓๑๐
      ในปี พ.ศ. ๒๔๓๖ หรือ ร.ศ.๑๑๒ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ฝรั่งเศสได้ใช้กำลังบีบบังคับและยื่นคำขาดให้ไทยยกดินแดนของลาวทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงกับเขมรส่วนนอกซึ่งเคยเป็นประเทศราชของไทยให้กับฝรั่งเศส ในระหว่างที่รอให้สัญญาต่าง ๆ มีผลบังคับใช้ ฝรั่งเศสยึดจันทบุรีไว้เป็นประกันจนถึงปี พ.ศ.๒๔๔๗ เหตุผลที่เลือกยึดเมืองจันทบุรีก็เพราะเป็นเมืองที่มีความสำคัญทางด้านยุทธศาสตร์ เป็นจุดที่ควบคุมอ่าวสยามที่ติดต่อกับแหลมมลายูของอังกฤษ เป็นทางผ่านเข้าไปยังสามจังหวัดของไทยที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดด้านทรัพยากรธรรมชาติซึ่งได้แก่ บ่อพลอย บ่อไพลิน ในเขตเมืองพระตะบอง เสียมราฐ  และศรีโสภณ
      กองทหารฝรั่งเศสได้ตั้งค่ายทหารขึ้นในบริเวณบ้านลุ่ม หรือบริเวณที่เป็นค่ายตากสินในปัจจุบันและที่ปากน้ำแหลมสิงห์ รวมทั้งได้สร้างสิ่งปลูกสร้างอีกหลายหลัง ปัจจุบันหลักฐานร่องรอยทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับจันทบุรีที่บ้านลุ่ม ปรากฏให้เห็นอยู่ภายในค่ายตากสินเท่านั้น อาคารที่ฝรั่งเศสสร้างขึ้นและยังคงอยู่ถึงปัจจุบันได้แก่
               อาคารกองรักษาการณ์
               อาคารที่พักทหารฝรั่งเศส
               อาคารคลังพัสดุ
               อาคารกองบัญชาการทหารฝรั่งเศส
               อาคารที่คุมขังทหารฝรั่งเศส
               อาคารคลังกระสุนดินดำ(คส.๕) 
               อาคารคลังกระสุนดินดำ(คส.๖) 
      ภายหลังจากที่ฝรั่งเศสถอนทหารออกจากเมืองจันทบุรีเมื่อวันที่ ๘ มกราคม พ.ศ. ๒๔๔๗ ค่ายทหารฝรั่งเศสในบริเวณค่ายตากสินได้มีการใช้งานสืบต่อมา ดังนี้
               พ.ศ.๒๔๗๒ เป็นที่ตั้งของโรงเรียนประชาบาล และบ้านพักของข้าราชการฝ่ายปกครอง
               พ.ศ.๒๔๗๙ เป็นที่ตั้งกองทหารม้า ม. พัน. ๔
               พ.ศ.๒๔๘๘ เป็นที่ตั้งของพัน. นย. ๓ (กองพันทหารราบนาวิกโยธิน ๓)
               พ.ศ.๒๔๙๗ เป็นที่ตั้งกองป้องกันพิเศษ จันทบุรี 
               พ.ศ.๒๔๙๘ ได้มีคำสั่งขยายกำลังกองป้องกันพิเศษ จากกำลัง ๑ กองร้อยเป็นกองพัน ชื่อว่าพัน. ร.๒ นย. ต่อมาได้แปรสภาพเป็นกองพันทหารราบที่ ๒  กรมทหารราบที่ ๑ กรมผสมนาวิกโยธิน เมื่อวันที่ ๑๐ สิงหาคม ๒๕๒๑ ปัจจุบันได้เปลี่ยนเป็น กองพันทหารราบที่ ๒ กรมทหารราบที่ ๑ กองพลนาวิกโยธิน หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน ตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน ๒๔๕๓  
      กลุ่มอาคารโบราณสถานที่สร้างขึ้นในสมัยที่ฝรั่งเศสเข้ายึดเมืองจันทบุรีได้รับการบูรณะปรับปรุงและใช้งานมาตลอด แต่การบูรณะที่ผ่านมาทำได้ในวงจำกัดเนื่องจากขาดงบประมาณและความรู้ในการบูรณะอาคารโบราณสถาน ทำให้อาคารต่าง ๆ อยู่ในสภาพที่ชำรุดทรุดโทรมเป็นอันมาก อาคารเหล่านี้เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ยังหลงเหลืออยู่จากสมัยที่มีการล่าอาณานิคม ซึ่งการเสียดินแดนให้แก่ประเทศมหาอำนาจที่แสวงหาเมืองขึ้นเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยากแต่ด้วยพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงตัดสินพระทัยยอมเสียดินแดนบางส่วนเพื่อแลกกับการถูกครอบครองทั้งหมดทำให้สยามรอดพ้นจากการเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศส
โบราณสถานค่ายทหารฝรั่งเศส สืบเนื่องจากวิกฤตการณ์ ร.ศ. ๑๑๒ (พ.ศ.๒๔๓๖)
รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
Historic monument from the A.D. 1893 Incident During the reign of King Chulongkorn the Great
กองกำลังทหารฝรั่งเศส ตั้งค่ายที่เมืองจันทรบุรี
งานสมโภชเมืองจันทบุรีในเดือน มกราคม พ.ศ. ๒๔๔๗
ภายหลังทหารฝรั่งเศสถอนกำลังจากจันทบุรี
      ในปี พ.ศ. ๒๕๔๕ มูลนิธิอนุรักษ์โบราณสถานในพระราชวังเดิม และกรมศิลปากรได้ร่วมกันสำรวจเพื่อทำแผนบูรณะ พบปัญหาต่าง ๆ ดังนี้
               ปัญหาความชื้น หลังคารั่วซึมเนื่องจากวัสดุหมดสภาพ ทำให้ผนังเปื่อยยุ่ยและพบมีการทำลายจากปลวกในทุกอาคาร
               การทรุดตัวของโครงสร้าง
               กรอบและบานประตูหมดสภาพ ผุพัง บางส่วนถูกเปลี่ยนใหม่ ไม่สอดคล้องกับยุคสมัยของอาคาร  
      เนื่องจากมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของชาติดังที่กล่าวแล้ว และอยู่ในสภาพที่ต้องบูรณะอย่างรีบด่วน มูลนิธิฯ จึงได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี องค์ประธานที่ปรึกษาของมูลนิธิฯ ให้ทรงทราบ และทูลเชิญเสด็จฯ เปิดโครงการบูรณะโบราณสถานในค่ายตากสิน ในวันที่ ๒๐ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๑ ต่อจากนั้นได้จัดหาทุนและดำเนินการบูรณะอาคารโบราณสถานต่าง ๆ โดยเน้นให้คงรูปแบบเดิมตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ เสริมความแข็งแรงของตัวอาคาร แก้ไขเรื่องการรั่วซึมซึ่งทำให้เกิดความชื้น และกำจัด และป้องกันปลวก งานบูรณะได้ดำเนินต่อเนื่องมาจนเสร็จสมบูรณ์ในปี พ.ศ. ๒๕๕๘ ในระหว่างนั้น มูลนิธิฯ ได้เตรียมหาข้อมูลเพื่อจัดนิทรรศการประวัติศาสตร์ โดยเน้นเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับอาคารโบราณสถาน ซึ่งได้แก่ พระราชประวัติ และพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และความสัมพันธ์ไทย – ฝรั่งเศส ตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลายจนถึงปัจจุบัน นอกจากนั้นยังมีประวัติของค่ายตากสินนับตั้งแต่ฝรั่งเศสออกจากจันทบุรีจนถึงปัจจุบัน ประวัติความเป็นมาของเมืองจันทบุรี และข้อมูลการอนุรักษ์โบราณสถานในค่ายตากสิน
      ในวันที่ ๒๗ เมษายน ๒๕๕๙ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี องค์ประธานที่ปรึกษาของมูลนิธิฯ ได้เสด็จฯ เปิดอาคารโบราณสถานที่ได้บูรณะแล้ว และทอดพระเนตรนิทรรศการที่ได้จัดขึ้น หลังจากนั้นได้เปิดให้ผู้สนใจเข้าชมแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญของประวัติศาสตร์ของประเทศไทยแห่งนี้ต่อไป