โบราณสถานค่ายทหารฝรั่งเศส สืบเนื่องจากวิกฤตการณ์ ร.ศ. ๑๑๒ (พ.ศ.๒๔๓๖)
รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
Historic monument from the A.D. 1893 Incident During the reign of King Chulongkorn the Great
การเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ ๒ พ.ศ.๒๔๕๐
          จากความผันผวนทางการเมืองในอังกฤษ และการสิ้นพระชนม์ของพระราชินีวิคตอเรียในพ.ศ.๒๔๔๔ ส่งผลให้นโยบายปกป้องเยอรมนีของอังกฤษเปลี่ยนไป สมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ ๗ พระประมุขพระองค์ใหม่ของอังกฤษไม่มีนโยบายอุ้มชูเยอรมนี  เหมือนอย่างที่เคยเป็นมา  แต่ในทางตรงกันข้ามพระองค์กลับชื่นชอบฝรั่งเศส  ซึ่งสัมพันธภาพใหม่ระหว่างอังกฤษกับฝรั่งเศสนั้น ก่อให้เกิดความร่วมมือของขั้วอำนาจใหม่ในยุโรปคือ อังกฤษ ฝรั่งเศส และรัสเซียซึ่งรู้จักในเวลาต่อมาว่าฝ่ายความตกลงไตรภาคี (Triple Entente) เพื่อคานอำนาจกับฝ่ายสนธิสัญญาพันธไมตรีไตรภาคี (Triple Alliance) อันประกอบไปด้วยเยอรมนี ออสเตรีย-ฮังการี และอิตาลี

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขณะเสร็จลงเรือพระที่นั่งมหาจักรีลำที่ ๑
ณ ท่าราชวรดิษฐ์เพื่อเสด็จประพาสยุโรป เมื่อวันที่ ๒๗ มีนาคม พ.ศ.๒๔๕๐
แผนที่เส้นทางเสด็จประพาสยุโรปเมื่อ ร.ศ.๑๒๖
          การรวมตัวดังกล่าวของมหาอำนาจในยุโรปส่งผลกระทบไปทั่วยุโรปรวมทั้งประเทศไทยด้วย ความกดดันจากข้อตกลงฉันมิตรของอังกฤษและฝรั่งเศสที่จะแบ่งประเทศไทยออกเป็นสามเขตปกครอง ผนวกกับการที่ไทยต้องเสียดินแดนให้กับฝรั่งเศสเพิ่มขึ้นใน พ.ศ.๒๔๔๗ มีส่วนผลักดันให้พระองค์เสด็จประพาสยุโรปเป็นครั้งที่ ๒ พระองค์ทรงแน่พระทัยว่าอิทธิพลที่พระองค์ทรงมีอยู่กับราชสำนักเยอรมนีและเดนมาร์กซึ่งไม่มีพันธะกับฝ่ายความตกลงไตรภาคี (Triple Entente) จะเป็นแรงผลักดันที่สำคัญให้นโยบายของพระองค์เกิดความคืบหน้า ส่วนรัสเซียที่เคยเป็นความหวังของไทย มีข้อผูกมัดตามสัญญาทวีภาคี (Dual Alliance) ที่มีต่อฝรั่งเศส เป็นเหตุผลที่พระองค์ต้องทรงหันไปคบค้ากับเยอรมนีแทน และไม่เสด็จเยือนรัสเซียในคราวนี้

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จทอดพระเนตร
สถานีส่งวิทยุเทเลฟุงเกน เมื่อวันที่ ๙ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๕๐
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตร
อู่ต่อเรือเยอรามเนีย ณ เมืองคีล ประเทศเยอรมนี
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเป็นประธาน
ทรงเปิดบ่อน้ำพุในบาดฮอมบวร์ก ประเทศเยอรมนี
          จักรพรรดิวิลเลี่ยมที่ ๒ แห่งเยอรมนี ทูลเสนอว่าจะทรงให้การสนับสนุนไทย  โดยจัดให้มีการประชุมระดับนานาชาติ เพื่อยุติปัญหาการคุกคามของมหาอำนาจที่มีต่อประเทศเล็กโดยไม่เป็นธรรม  พระองค์ประทับอยู่ที่เยอรมนีเป็นเวลา ๘ เดือน และในระหว่างที่ประทับอยู่ที่เยอรมนี พระองค์ได้เสด็จทอดพระเนตรสถานที่และกิจการต่าง ๆ ในเยอรมนีเพื่อนำปรับปรุงกิจการต่าง ๆ ของประเทศ
          แม้ว่าเยอรมนีเป็นมหาอำนาจที่มีบทบาทสำคัญในวงการเมืองของยุโรปและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในขณะนั้น แต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่ทรงประมาทพระองค์ทรงดำเนินทฤษฎีกันชนอย่างไม่ลดละ พร้อมกับทรงให้การสนับสนุนเยอรมนีในการเข้ามามีบทบาททางการเมืองและเศรษฐกิจของไทย ในขณะเดียวกันก็ทรงหาทางเจรจาต่อรองกับฝรั่งเศสเป็นการส่วนตัว เพื่อยุติปัญหาความขัดแย้ง   ดังนั้นการเสด็จประพาสฝรั่งเศสในคราวนี้   มีภารกิจงานราชการที่สำคัญให้ทรงต้องปฏิบัติ คือ การลงพระปรมาภิไธยให้สัตยาบันรับรองสนธิสัญญาสยามกับฝรั่งเศสฉบับ พ.ศ.๒๔๔๙ (ซึ่งลงนามโดยผู้แทนรัฐบาลไทย และเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทยที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๒๓ มีนาคม พ.ศ.๒๔๔๙) ด้วยพระองค์เอง ที่กรุงปารีสเมื่อวันที่ ๒๑ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๕๐ เพราะสนธิสัญญาฉบับนี้จะต้องให้รัฐสภาของฝรั่งเศสให้การรับรองก่อนจึงมีผลบังคับใช้ 


พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวประทับบนรถม้าพระที่นั่ง
พร้อมด้วยประธานาธิบดี อาร์มองต์ ฟาลิเยร์
ณ สถานนีรถไฟบุยเยต์ เมื่อครั้งเสด็จเยือนฝรั่งเศสใน พ.ศ.๒๔๕๐
          พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสเดนมาร์กในฐานะพระราชอาคันตุกะส่วนพระองค์ของเจ้าชายวัลเดอมาร์ (Prince Waiderman) และเจ้าหญิงมารี เดอ ออเล-อง (Princess Marie d' Orleans) พระองค์ทรงมีความใกล้ชิดสนิทสนมกับทั้งสองพระองค์เป็นอย่างยิ่งเจ้าหญิงมารี เดอ ออเล-องนับเป็นผู้ที่มีอิทธิพลต่อรัฐบาลและประชาชนฝรั่งเศส และทรงมีบทบาทสำคัญ โดยทรงให้ความช่วยเหลือไทยในการเจรจาต่อรองกับรัฐบาลฝรั่งเศส ไทยกับเดนมาร์กมีความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในพ.ศ.2401เดนมาร์กเข้ามาเจริญพระราชไมตรีและทำการค้ากับไทย ในสมัยรัชกาลที่ 5 ชาวเดนมาร์กหลายคนเข้ามารับราชการให้กับกิจการต่างประเทศ กองทัพ และตำรวจ ตลอดจนกิจการต่างๆ ในประเทศไทย เช่น พระยาชลยุทธโยธินทร์ (อองเดร ดู เปลซี เดอ ริเชอลิเออ หรือ Andr? du Plessis de Richelieu) เข้ามารับราชการเป็นผู้บังคับบัญชาการทหารเรือ มิสเตอร์ฮันส์นีลส์แอนเดอร์เซน (Mr.Hans Nils Andersen)  ผู้ก่อตั้งกิจการโรงแรมโอเรียนเต็ลและห้างอีสเอเชียติกที่ยังคงดำเนินกิจการมาจนถึงทุกวันนี้ การเสด็จเยือนเดนมาร์กในครั้งนี้ของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นการกระชับความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

          นอกจากนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวยังได้เสด็จเยือนอิตาลี อังกฤษ และนอร์เวย์ อีกด้วยในการเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ ๒ ทรงมีลายพระราชหัตถเลขาพระราชทานแก่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้านิภานภดล วิมลประภาวดีเล่าเรื่องต่าง ๆ ตั้งแต่สภาพดินฟ้าอากาศ สภาพบ้านเมือง การรักษาพระองค์  สังคมและวัฒนธรรมที่มีความหลากหลายของคนในประเทศที่เสด็จพระราชดำเนินเยือน พระราชภารกิจพระราชดำริ และพระราชวินิจฉัยส่วนพระองค์ที่ทรงมีต่อเหตุการณ์ต่าง ๆ ลายพระราชหัตถเลขานี้ต่อมาพิมพ์เป็นหนังสือ  "ไกลบ้าน"
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวประทับยืนอยู่ใกล้ก้อนหินที่แกาะสลัก
พระปรมาภิไโธยย่อ จปร ฉายพระรูปพร้อมกับคณะผู้ติดตาม
ณ นอร์ทเคป (Northcapp) เมื่อครั้งเสด็จประพาสประเทศนอร์เวย์
          จากปัญหาต่าง ๆ ทางการเมืองที่คุกคามเอกราชของประเทศไทยในระหว่างพ.ศ.๒๔๓๖ - ๒๔๕๐ เป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่บั่นทอนพระพลานามัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นอย่างยิ่ง  และเป็นสาเหตุสำคัญอันหนึ่งที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสยุโรปเป็นครั้งที่ ๒ ในเดือนมีนาคม พ.ศ.๒๔๕๐ ในครั้งนี้ได้เสด็จพระราชดำเนินโดยเรือโดยสารของเยอรมนีชื่อแซกเซน (Sachsen)การเสด็จประพาสยุโรปในครั้งที่ ๒ นี้ห่างจากการเสด็จในครั้งแรกถึง ๑๐  ปี แม้ว่ารัฐบาลไทยจะประกาศว่าการเสด็จยุโรปครั้งที่ ๒ เป็นการเสด็จพระราชดำเนินส่วนพระองค์หรือไปรเวตเพื่อรักษาอาการพระประชวรเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจและพระวักกะ (ไต)  ตามคำแนะนำของนายแพทย์ส่วนพระองค์ชาวเยอรมันที่เมืองบาเดน-บาเดน (Baden - Baden) และ เมืองบาด-ฮอมบวร์ก (Bad Homburg)  ประเทศเยอรมนีและเพื่อเสริมสร้างความเข้าใจอันดีกับประเทศต่างๆ ในยุโรปแต่ในความเป็นจริงนั้นนัยยะทางการเมืองแฝงไว้ด้วย พระองค์ทรงมีจุดประสงค์สำคัญเพื่อเจรจาราชการบ้านเมืองกับชาติตะวันตกต่างๆ ทั้งเรื่องสิทธิสภาพนอกอาณาเขตปัญหาเรื่องคนในบังคับฝรั่งเศส อำนาจการปกครองเหนือดินแดนเมืองหลวงพระบางบนฝั่งขวาแม่น้ำโขง และเขตปลอดทหาร (ไทย) ระยะ ๒๕ กิโลเมตรบนฝั่งขวาของแม่น้ำโขงตลอดแนวชายแดนระหว่างราชอาณาจักรสยามกับอาณานิคมอินโดจีนของฝรั่งเศส ปัญหาภาษีร้อยชัก ๓ เป็นร้อยชัก ๑๐ และโครงการสร้างทางรถไฟสายใต้